ผู้ป่วยติดเตียงจะสามารถกลับมาเดินได้ไหม?

คำถามที่พบบ่อยว่าผู้ป่วยติดเตียงจะสามารถกลับมาเดินได้ไหม เป็นคำถามที่มักเกิดกับคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือบางรายอาจพบการช่วยเหลือตนเองได้เพียงซีกด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น  แต่สุดท้ายเมื่อผู้ป่วยและผู้ดูแลขาดความรู้ หมดกำลังใจ ผู้ป่วยก็จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลก็จะพบปัญหาตามมาหลายด้านด้วยกัน

มารู้จักผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพาตครึ่งซีกกันก่อน

คือภาวะที่ร่างกายมีการสูญเสียการทำงานของแขนและขาในด้านเดียวกัน ของลำตัวสาเหตุมีหลายอย่างแต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ สาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ

  1. หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน
  2. หลอดเลือดสมองแตก

ทั้ง 2 ภาวะดังกล่าวทำให้เนื้อเยื่อสมองในบริเวณที่หลอดเลือดนั้นหล่อเลี้ยงเกิดอาการขาดเลือดทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นๆ ซึ่งควบคุมการทำงานของร่างกายทำหน้าที่บกพร่องไป ดังที่ทราบกันแล้วว่าสมองมี 2 ซีก ซ้ายและขวาโดยปกติสมองซีก หนึ่งๆ จะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านตรงข้ามเสมอ เช่น เมื่อสมองซีกขวามีปัญหาจึงส่งผลให้การทำงานของร่างกายซีกซ้ายเกิดการอ่อนแรง

จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตันย้อนหลังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตันที่กลับมาเดินได้มีอยู่จำนวนไม่น้อย  ในข้อมูลเหล่านั้นได้กล่าวไว้ว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตันหายกลับมาได้จากทีมดูแล และที่สำคัญจากตัวผู้ป่วยเอง

ขอนำเรื่องราวของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันในวัยที่เป็นวัยทำงานมาแบ่งปันในแง่การปฏิบัติตัว การสร้างกำลังใจว่าทำอย่างไร  ผู้ป่วยรายนี้เล่าว่าปกติเป็นคนขยันและชอบทำงานมาก พักผ่อนน้อย  ไม่สนใจเรื่องการออกกำลังกาย  จนมาประสบเหตุตอนขับรถกลับบ้าน และแวะจอดรถที่ร้านสะดวกซื้อ ขณะนั้นผู้ป่วยเล่าว่าเหมือนมีคนกระชากตัวไปด้านหนึ่ง ซีกซ้ายขยับไม่ได้ ใบหน้าเริ่มชา จึงค่อยๆขยับตัวหาโทรศัพท์ไลน์บอกเพื่อนด้วยความยากลำบาก จนมีพลเมืองดีมาช่วยและนำส่งโรงพยาบาล (ใช้เวลาหลายชั่วโมง)  ซึ่งหมอบอกเลยว่าอาการที่พบมาจากเส้นเลือดหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้บางส่วน จิตใจตอนนั้นท้อแท้ สิ้นหวัง อยากตายแต่ก็ตายไม่ได้  นอนรอให้นักกายภาพมาช่วยฟื้นฟูทุกวัน  ในช่วงแรกมีเพื่อนๆมาให้กำลังใจตลอด  ผ่านไปก็รู้เลยว่า  ตนเองนี่แหละเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ต้องสร้างกำลังใจให้ตนเองในทุกๆวัน

จนมาวันหนึ่งผ่านไปหลายเดือน ตนเองมีความรู้สึกว่านิ้วมือเริ่มกระดิกได้  จึงมีกำลังใจ  มีลูกฮึดเกิดขึ้นมาจึงตั้งใจทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง และพบว่าอาการเริ่มดีจากมือไปปลายเท้า เริ่มกายภาพมากขึ้น ฝึกยืนใช้กล้ามเนื้อสะโพกของตนเองช่วย (เป็นช่วงที่ยากลำบากเหลือเกิน)  จากลูกฮึดของตัวผู้ป่วยเองจึงได้ผลเร็ว  และเริ่มฝึกก้าว และเดินต่อมา เวลาทั้งหมดนับแต่เริ่มป่วยจนเดินได้ใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปี  ผู้ป่วยท่านนี้ได้ให้ข้อคิดดีๆแก่ทุกคนว่า ในช่วงที่นอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้น  ได้มีโอกาสทบทวนเรื่องราวต่างๆ  เคยอยากได้อยากครอบครอง  สุดท้ายไม่มีอะไรเที่ยง  และปัจจุบันเองผู้ป่วยรายนี้มาเป็นวิทยากรแนะนำให้แก่ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหลอดเลือดสมองตีบ และอุดตัน ในเรื่องการปฎิบัติตัวขณะเจ็บป่วย

สำหรับผู้ป่วยพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้างขอแนะนำการออกกำลังกายเบื้องต้น

หากผู้ป่วยยังไม่พร้อมที่จะทำเองญาติหรือผู้ดูแลควรช่วยเหลือโดยการขยับข้อทุกข้อของข้างที่อ่อนแรงเพื่อป้องกันข้อยึดติดการบริหารทำข้อละ 3-5 ครั้ง วันละ 1-2 รอบ ในทิศทางต่อไปนี้

1.การบริหารข้อไหล่ ควรประกอบด้วย ยกไหล่มาด้านหน้ากางไหล่ออกด้านข้างแล้วยกขึ้น หมุนไหล่เข้าและออก

2.การบริหารข้อศอก ควรประกอบด้วย การงอและเหยียดข้อศอก คว่ำมือและหงายมือ  การบริหารข้อมือและนิ้วมือมือและนิ้วมือข้างที่เป็นอัมพาตของผู้ป่วยมักบวมซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงไม่สามารถบีบตัวให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองเป็นไปอย่างปกติการดูแลเบื้องต้นคือ ให้ใช้หมอนหนุนปลายมือให้สูงกว่าข้อศอกทั้งในท่านอนและท่านั่งนวดไล่จากปลายนิ้วมือเข้าหาต้นแขนและทำท่าบริหารโดยให้กระดกข้อมือขึ้นเหยียดนิ้วมือออกให้สุดและกางนิ้ว โป้งออกให้ง่ามนิ้วตึงการบริหารข้อสะโพกควรประกอบด้วย การงอและเหยียดกางออกหุบเข้า รวมทั้งหมุนสะโพก

3.การบริหารข้อเท้าควรกระดกข้อเท้าขึ้นให้เอ็นร้อยหวายตึงป้องกันการหดสั้นของเอ็นร้อยหวาย หากเอ็นร้อยหวายหดสั้นปลายเท้าจะจิกลงและขัดขวางการเดิน

ในการดูแลผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองได้น้อย ไม่สามารถจะลุกขึ้นมานั่งได้เอง ผู้ดูแลก็คงจะต้องช่วยเหลือพอสมควร การช่วยเหลือก็ทำได้ตั้งแต่ การพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโม ฝึกทำกายภาพบำบัดสำหรับญาติ ก็คือ ญาติจะต้องมาเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดจากนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล เพื่อนำกลับไปทำต่อที่บ้านได้ และจะต้องพยายามให้ผู้ป่วยช่วยตนเองให้มากเท่าที่จะทำได้ สมมุติว่า พอจะกินข้าวเองได้ ใช้มือข้างที่ยังดีอยู่ช่วยตัวเองได้ ก็พยายามให้ทำ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจตัวเองมากขึ้นด้วยว่า ผู้ป่วยยังมีความสามารถอยู่ ไม่ใช่หมดความสามารถแล้ว และผู้ดูแลก็จะพบบ่อยว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จะมีโรคซึมเศร้า แทนที่จะฟื้นตัวได้ทั้ง ๆ ที่แข็งแรงขึ้นแล้ว แต่ทางใจไม่แข็งแรง ก็จะแย่ลงอีก

ช่วงท้ายขอฝากไว้เรื่องของอัมพาต อัมพฤกษ์ นั้นมีหลายระดับ ผู้ป่วยที่เป็นน้อยก็สามารถที่จะกลับมาเดินเป็นได้เหมือนเดิม ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมาก อาจจะใช้มือข้างหนึ่งไม่ถนัด อย่างน้อยเป้าหมายของผู้ดูแลฝึกให้ผู้ป่วยใช้มืออีกข้างหนึ่งมาทดแทนได้ สมมุติว่าเป็นมือขวาอาจจะใช้มือซ้ายตักข้าวเข้าปาก ล้างหน้า แปรงฟันหรือทำกิจกรรมใด ๆ ของตัวเองได้ นั่นคือ เป้าหมายที่ต้องการ ผู้ดูแลไม่สามารถทำให้แขนขาที่อ่อนแรงไปแล้ว กลับมาดีได้เหมือนเดิม 100% แต่อย่างน้อยผู้ดูแลก็จะพยายามให้ผู้ป่วยช่วยตนเอง ก็คือใช้สิ่งที่มีอยู่มาชดเชย ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งกำลังใจแก่ผู้ดูแลและผู้ป่วยคะ