การป้องกันผู้ป่วยติดเตียงจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

การป้องกันผู้ป่วยติดเตียงจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ปัสสาวะรดที่นอน ซึ่งเกิดจากภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (urinary incontinence) หรือภาวะปัสสาวะราด (urge incontinence) เป็นภาวะที่เมื่อผู้สูงอายุเกิดอาการปวดปัสสาวะอย่างทันทีทันใด จะมีปัสสาวะราดออกมาทันทีโดยไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ทัน เกิดขึ้นเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ คือกระเพาะปัสสาวะบีบตัวขึ้นมาเองทั้งที่ปัสสาวะยังไม่เต็ม สาเหตุ เนื่องมาจากมีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคเบาหวานโรคพาร์กินสัน ซึ่งมักพบร่วมกับปัญหาอื่น เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ เนื้องอก หรือนิ่วกระเพาะปัสสาวะเป็นต้น

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้โดยง่าย ขณะที่ผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก

สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จากลำไส้ หรือ ผิวหนังของอวัยวะเพศเข้าไปอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และ แพร่เข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หรือไต

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีอาการ

  1. ปัสสาวะแสบขัด และ เจ็บเสียวเมื่อใกล้สุด
  2. ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะออกมาน้อย
  3. ปัสสาวะอาจมีกลิ่น
  4. ปัสสาวะขุ่น อาจมีเลือดปน

รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อทางทางเดินปัสสาวะ

  1. สังเกตการปัสสาวะของตัวเอง ถ้าการปัสสาวะมีความผิดปกติ หรือ สงสัยว่าตัวเองอาจจะมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ควรไปหาหมอ เพื่อให้หมอตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยการตรวจเพื่อดูว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่นั้น ทำได้ง่ายๆ คือ ใช้การตรวจปัสสาวะนั่นเอง
  2. การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือเม็ดเลือดขาว หากพบเม็ดเลือดขาวมากกว่า 3-5 ตัว อาจเป็นไปได้ว่ามีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย
  3. การเพาะเชื้อปัสสาวะ หากตรวจปัสสาวะแล้วพบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อ อาจจะมีการตรวจด้วยการเพาะเชื้อปัสสาวะเพิ่มเติม
  4. ส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีอาการรุนแรง หรือ เรื้อรัง เป็นไม่หาย หมออาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ดูว่ามีความผิดปกติอื่นนอกจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่
  5. การตรวจทางรังสีวิทยา ใช้ในการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น การตรวจนิ่วในทางปัสสาวะ การตรวจการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ

การป้องกันผู้ป่วยติดเตียงจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ในกรณีผู้ป่วยติดเตียงที่ปัสสาวะรดที่นอน

1) แนะนำผู้ดูแลควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่นมีไข้ ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด ทำความสะอาดทุกครั้งภายหลังการขับถ่าย โดยใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ให้แห้งทุกครั้งภายหลังจากมีปัสสาวะเล็ด/รั่วไหล

2) ผู้ดูแลควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยติดเตียงบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยฝึกให้กระเพาะปัสสาวะสามารถกักเก็บน้ำปัสสาวะในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น วิธีการปฏิบัติคือการให้ผู้ป่วยเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ลักษณะคล้ายกับการกลั้นผายลม หรือขมิบรูทวารหนัก ค้างไว้ 5-10 วินาที ชุดหนึ่ง 3-5 ครั้งวันละ 3 ชุด ทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นผลชัดเจนหลังทำไป 15-20 สัปดาห์แนะนำให้ผู้สูงอายุพยายามกลั้นปัสสาวะและหาวิธีการผ่อนคลายตนเองจากความรู้สึกอยากขับถ่ายปัสสาวะ

3) แนะนำการให้น้ำอย่างเพียงพอแก่ผู้ป่วยติดเตียง

  • ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องรับอาหารปั่นเป็นอาหารหลัก ผู้ดูแลควรให้น้ำให้เพียงพอประมาณ 1 แก้วหรือ150-200
    ซีซี/มื้อ และระหว่างมื้อด้วย รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1 ลิตร/วัน
  • ผู้ป่วยติดเตียงที่รับประทานอาหารได้ปกติ ผู้ดูแลควรดูแลการได้รับน้ำอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 1 ลิตร/วัน

4) แนะนำผู้ดูแลควรพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียง ทุก 2 ชั่วโมง เป็นการตรวจสอบว่ามีปัสสาวะรดหรือไม่และเป็นการป้องกันการเกิดแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียงได้ด้วย

แนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่มีการกลั้นปัสสาวะไม่ได้

  1. ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม สะดวกต่อการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น จัดเตียงนอนหรือบริเวณที่ผู้สูงอายุอยู่ให้ใกล้กับห้องน้ำ มีราวให้จับไปตามทางเดินไปห้องน้ำการจัดทางเดินระหว่างเดินไปห้องน้ำไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เป็นต้น
  2. ผู้สูงอายุที่ใช้แผ่นรองซับน้ำปัสสาวะ ควรเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อมีการขับถ่าย และต้องดูแลให้ผิวหนังแห้งเสมอ เพื่อไม่ทำให้เกิดแผลกดทับหรือผื่นแพ้บริเวณร่มผ้า จัดหาวัสดุรองรับปัสสาวะ เช่น จัดหาผ้าอ้อมชนิดใช้แล้วทิ้งสำหรับไว้ใส่ เป็นต้น แต่การใช้วัสดุรองรับปัสสาวะนั้นต้องคำนึงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง
  3. รักษาความสะอาดทุกครั้งภายหลังการขับถ่าย โดยใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ให้แห้งทุกครั้งภายหลังจากมีปัสสาวะเล็ด/รั่วไหล เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการระคายเคือง และเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังไม่เช็ดย้อนเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ งดการใช้สบู่ที่มีความเป็นกรดด่างสูง ควรใช้สบู่อ่อนๆ เสื้อผ้าและกางเกงชั้นในควรสะอาดและเป็นผ้าฝ้ายที่ไม่ระคายเคืองมากเกินไป นอกจากการรักษาความสะอาดร่างกายผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงแล้ว อย่าลืมดูแลความสะอาดสภาพแวดล้อมรอบๆตัวผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงด้วย เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยและสภาพจิตใจที่ดี สร้างความสดชื่นแก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง

สรุปภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเป็นปัญหาที่พบบ่อย เมื่อผู้ดูแลหมั่นดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เน้นรักษาความสะอาดทุกครั้งภายหลังการขับถ่ายปัสสาวะจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงสุขสบายมากขึ้น ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น