ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุและภาวะติดเตียง โดยเฉพาะเรื่องแผลกดทับ

ปัจจุบันปัญหาผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และในอนาคตสิบปีข้างหน้าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ปัญหาที่ตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพ ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางรายต้องให้อาหารทางสายยาง หายใจผ่านทางการใส่ท่อเจาะคอ และเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับตามมา

แผลกดทับ หมายถึง การถูกทำลายเฉพาะที่ของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากความรุนแรงของแรงกด หรือการถูกกดเป็นระยะเวลานาน อาจจะเกิดจากแรงกดร่วมกับแรงไถล  แผลกดทับเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมลดลง  ผู้ดูแลควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผลกดทับ และระดับของแผลกดทับ ทราบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับและวิธีการป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย การป้องกันการเกิดแผลกดทับจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาแผลกดทับที่เกิดขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ได้แก่
1. ช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย นอนติดเตียงตลอดเวลา มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว
2. ไม่รู้สึกตัวหรือความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึมลง กระสับกระส่าย สับสน
3. รูปร่างผอม ผิวหนังบางและมองเห็นปุ่มกระดูกชัดเจน
4. ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้

การป้องกันแผลกดทับ 

  1. ดูแลพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในรายที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยจัดให้ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไปตามความเหมาะสม ควรใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆรองบริเวณที่กดทับ หรือปุ่มกระดูกยื่น เพื่อป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับ คลิกเพื่อดูเทคนิคการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง
  2. ดูแลที่นอน ผ้าปูที่นอน ให้สะอาด แห้ง เรียบตึงอยู่เสมอ ควรใช้ที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนที่การระบายอากาศไม่ดี เช่น ที่นอนหุ้มพลาสติก
  3. การยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ควรมีผ้ารองยก และใช้การยกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดการเสียดสี และทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วย เราจำเป็นต้องจัดท่าให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะอยู่ในท่าที่สบาย ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หรือเกิดอาการเกร็ง
  4. ดูแลการบริหารร่างกายผู้ป่วยตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และผิวหนังแข็งแรง มีการไหลเวียนของโลหิตดี คลิกเพื่อดูวิธีช่วยผู้ป่วยติดเตียงทำกายบริหาร
  5. ดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ คุณค่าทางโภชนาการครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วยที่มีแผลกดทับเพราะผู้ป่วย จะสูญเสียโปรตีนไปทางแผลจำนวนมาก น้ำอย่างสมดุลย์ด้วย

การดูแลผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงเป็นการป้องกันการเกิดแผลกดทับ

การดูแลผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงเพื่อควบคุมและปรับปรุงเนื้อเยื่อที่ถูกกดทับให้มีความแข็งแรงและป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ ผู้เขียนขอแนะนำ การปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. การทำความสะอาดร่างกาย ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้งควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น และสบู่ในการทำความสะอาดร่างกาย ถ้าจำเป็นต้องใช้สบู่ ควรใช้สบู่อ่อน เนื่องจากจะเกิดการระคายเคืองได้ง่าย จากผิวหนังที่แห้งและบอบบาง การทำความสะอาดร่างกายเป็นการล้างเอาสิ่งที่ปกป้องผิวหนังตามธรรมชาติออกไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุควรเลือกทำความสะอาดร่างกายวันละครั้ง หรือตามความเหมาะสม ในการทำความสะอาดควรเช็ดอย่างเบามือ และซับให้แห้งด้วยผ้าที่อ่อนนุ่ม จากนั้นทาแป้งให้ผิวลื่น ยกเว้นบริเวณที่มีแผล หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์นวดหลังในผู้ป่วยที่ผิวหนังแห้ง ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแตกง่าย

2. การทาโลชั่น ในผู้ป่วยที่มีผิวแห้งควรทาโลชั่น โดยทา 3-4 ครั้ง/วัน ถ้าเป็นครีมทา 2-3 ครั้ง/วัน และถ้าเป็นขี้ผึ้ง (Ointment) ทา 1-2 ครั้ง/วัน

3. ในผู้ป่วยที่มีปัญหาผิวหนังรับความรู้สึกลดลง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความร้อนโดยตรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นอัมพาต

4. สังเกตผิวหนังที่ถูกกดทับและผิวหนังบริเวณใกล้เคียง ทุกครั้งที่เปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วย และถ้าพบรอยแดงที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับ ควรประเมินว่าเป็นแผลกดทับ หรือไม่ เฝ้าระวังรอยแดงที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้ลุกลามกลายเป็นแผลกดทับ

5. หลีกเลี่ยงการนวดปุ่มกระดูก โดยเฉพาะบริเวณที่มีรอยแดง การนวดปุ่มกระดูกจะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นลดลงและทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปได้รับอันตรายจากการกดหรือนวดได้

6. ควรใช้วัสดุปิดแผลชนิด Transparent films หรือ Hydrocolloid dressing ปิดผิวหนัง บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ เช่น บริเวณปุ่มกระดูก หรือถ้ามีแผลกดทับระดับ 1-2 เกิดขึ้นแล้ว สามารถใช้วัสดุปิดแผลจำพวก Hydrocellular dressing/ Foam dressing ปิดแผลเพื่อควบคุมให้สิ่งแวดล้อมของแผลชุ่มชื้น

7. จัดสิ่งแวดล้อมให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นเพียงพอ และควรดูแลผ้าปูที่นอนให้สะอาดและเรียบตึง

8. รักษาความสะอาดผิวหนังอย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังเปียกชื้นจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ควรดูแลดังนี้

  • ตรวจสอบว่าผู้ป่วยขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระหรือไม่ทุก 1-2 ชั่วโมง และควรหาสาเหตุของการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ เพื่อให้ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
  • ทำความความสะอาดผิวหนังอย่างนุ่มนวล และซับให้แห้งภายหลังผู้ป่วยขับถ่ายทุกครั้ง
  • ทาวาสลีน หรือวาสลีนผสม Zinc paste บริเวณผิวหนังรอบๆ ทวารหนัก และแก้มก้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันการเกิดผิวหนังเปียกชื้นและเปื่อยยุ่ย

9. แนะนำการตรวจผิวหนังด้วยตนเอง โดยใช้กระจกส่อง ควรแนะนำผู้ดูแล/ญาติในการตรวจผิวหนังเพื่อดูรอยแดง เวลาพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุกครั้ง ถ้ามีรอยแดงและไม่หายภายใน 15-30 นาที ภายหลังการพลิกตัวแสดงว่ามีแผลกดทับ ระดับ 1 เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการนอนทับบริเวณดังกล่าว

 

ผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นแผลกดทับ ขอแนะนำการทำความสะอาดแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง 

1 การทำความสะอาดแผลที่อยู่ในระยะเริ่มและขยายกว้าง

1.1 ควรล้างแผลเบาๆ ควรทำเฉพาะผิวหนังรอบๆ แผลเท่านั้น หลีกเลี่ยงการขัดถูแผล

1.2 น้ำยาที่ใช้ล้างแผลต้องไม่มีพิษต่อเซลล์ ได้แก่ น้ำเกลือ ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น Povidone – Iodine , Chlorhexidine, Dekin- solution, Hydrogen peroxide ไม่ควรใช้ในระยะแผลเริ่มและขยายกว้าง เพราะจะทำลายเซลล์ที่จำเป็นในซ่อมแซมแผล ทำให้แผลหายช้า

2 การทำความสะอาดแผลติดเชื้อหรือแผลเนื้อตาย

2.1 ผู้ดูแลควรใช้น้ำยาทำความสะอาดแผล น้ำเกลือ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลติดเชื้อจากการปนเปื้อน

2.2 ผู้ดูแลควรกำจัดเศษเนื้อตายและสิ่งแปลกปลอมต่างๆบริเวณปากแผล เพราะจะเป็นแหล่งให้แบคทีเรียเจริญได้ดี ผู้ดูแลจึงควรตัดเล็มเศษเนื้อตายออกให้หมด เพื่อเซลล์ใหม่จะงอกขยายเจริญมาปกคลุมแผลได้ดี

2.3 ผู้ดูแลควรกำจัดช่องหรือโพรงที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เนื่องจากช่องหรือโพรงมักมีสารคัดหลั่งจากแผลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีของแบคทีเรีย ผู้ดูแลควรทำการอุดช่องหรือโพรงอย่างหลวมๆ ด้วยก๊อสหรือวัสดุที่เหมาะสมด้วยการฉีดล้าง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับแผลลึกมีโพรง ทำโดยใช้กระบอกฉีดยาบรรจุน้ำเกลือปราศจากเชื้อฉีดล้างทำความสะอาดแผล 2-3 ครั้งจนกระทั่งน้ำยาทำความสะอาดแผลที่ใช้มีความใส

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจแก่ผู้ดูแลและญาติในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การที่จะให้แผลกดทับของผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้นคงต้องมาจากผู้ดูแลที่จะนำเทคนิควิธีดังกล่าวไปใช้  ให้เกิดความต่อเนื่อง  รวมทั้งการพลิกตะแคงตัวและการทำความสะอาดแผลแก่ผู้ป่วยติดเตียง