ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง

คำว่า ผู้ป่วยติดเตียง ในทางการแพทย์ หมายถึง ผู้ป่วยที่ร่างกายเสื่อมโทรมจนต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งอาจขยับตัวได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่น ๆ ได้เลย โดยสาเหตุของการเป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้นอาจมีได้มากมายไม่ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุ การผ่าตัดใหญ่ ไปจนถึงโรคประจำตัวก็ได้เช่นกัน และผลข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนติดเตียงนั้นก็มีมากมาย ในบางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยก็คือ เกิดแผลกดทับ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น และเนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการฟื้นฟูร่างกายได้มากนัก จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ

ในการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยนอนติดเตียงนั้นมีข้อควรระวังและต้องใส่ใจอยู่เยอะมาก เพราะตัวผู้ป่วยนอนติดเตียงนั้นแทบจะช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธีจึงสำคัญมาก และปัญหาที่พบได้บ่อยๆ ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มักจะต้องเจอมี ดังนี้

  1. แผลกดทับ

สาเหตุของแผลกดทับมักจะมาจากการที่ผู้ป่วยนอนนาน ๆ ทำให้บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่าง ๆ ขาดเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณผิวหนัง จึงทำให้เกิดแผลที่ผิว ในระยะแรกอาจมีแค่อาการลอกที่ผิวอย่างเดียว แต่หากปล่อยไว้ก็อาจลอกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูกได้ และเมื่อไม่มีผิวปกคลุมแล้วโอกาสเกิดการติดเชื้อก็จะมากขึ้นไปด้วย โดยการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันแผลกดทับนั้นก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผู้ดูแลต้องหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง และเปลี่ยนท่านอนของผู้ป่วยด้วย เช่นนอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไปมา นอกจากนี้อาจซื้อที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ป้องกันการเกิดแผลกดทับโดยเฉพาะมาใช้ร่วมด้วยก็ได้เช่นกัน

  1. ความสะอาด

การรักษาความสะอาดเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในร่างกาย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้แลจึงควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะเป็นประจำ อย่างน้อยทุก 2-4 สัปดาห์ และทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจในความสะอาด และหากพบว่าผู้ป่วยมีปัสสาวะสีขุ่น หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาไปส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที  ในกรณีผู้ป่วยที่สวมใส่แพมเพิร์ส ผู้ดูแลก็ต้องหมั่นตรวจเช็คและเปลี่ยนแพมเพิร์สให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ เพราะหากปล่อยให้ผู้ป่วยนอนจมกองอุจจาระหรือปัสสาวะไปเรื่อย ๆ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลักได้อีกด้วย นอกจากความสะอาดของร่างกายผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลยังจำเป็นต้องหมั่นดูแลความสะอาดของเครื่องใช้ต่างๆรอบตัวผู้ป่วยด้วย อาทิเช่น ที่นอน ผ้าปูที่นอน โถขับถ่าย หรือแม้แต่โต๊ะเตียงเครื่องใช้รอบๆตัวผู้ป่วยติดเตียง เพราะนอกจากการทำความสะอาดสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอจะช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับผู้ป่วย ยังช่วยให้บรรยากาศรอบตัวผู้ป่วยดูน่าอยู่ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยโดยตรง

  1. การรับประทานอาหาร

อาหารการกินของผู้ป่วยติดเตียงนั้นต้องให้ความสำคัญมากเช่นกัน เพราะสิ่งที่พบบ่อยก็คือ “ภาวะกลืนลำบาก” ที่เสี่ยงต่อการสำลักในขณะรับประทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อเนื่องจากมีเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม ที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้น จึงไม่ควรให้ผู้ป่วยทานอาหารในท่านอน ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงระหว่างรับประทานอาหาร และเมื่อทานเสร็จแล้วก็ควรปล่อยให้นั่งตรงต่อไปก่อนสักพักเพื่อรออาหารย่อย จึงค่อยพาผู้ป่วยนอน นอกจากการปรับท่าทางการทานอาหารแล้ว ก็ควรปรับประเภทของอาหารให้เหมาะกับอาการของผู้ป่วยด้วย

  1. สุขภาพจิตของผู้ป่วย

นอกจากปัญหาด้านร่างกายแล้ว ด้านสภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ดูแลห้ามละเลยโดยเด็ดขาด และแม้ว่าสาเหตุของการเป็นผู้ป่วยติดเตียงอาจต่างกันไปตามแต่ละคน แต่สิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียงมักมีเหมือน ๆ กันก็คือ “ความเบื่อหน่ายและความทุกข์ใจ” ที่ไม่สามารถช่วยเหลือหรือทำอะไรเองได้เหมือนเดิม ดังนั้น ผู้ดูแลจึงควรหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความเครียดและความเบื่อหน่ายของผู้ป่วย

  1. สภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมเองสำคัญต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย จึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยต้องหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอและควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ ควรจัดสถานที่ให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นด้วย