สถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ในเวลานี้ยังคงมีการระบาดอยู่มากและการกลับมาระบาดรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อให้บ้านของเราสะอาดและปลอดภัยจากโควิด-19 เราต้องมาทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติของสารฆ่าเชื้อโรคแต่ละอย่างให้ดี โดยเฉพาะบ้านที่ต้องดูแลผู้ป่วยพึ่งพิง/ผู้ป่วยติดเตียงน่าจะต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ลองมารู้จักน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่สามารถหาใช้กันได้ทั่วไป ว่าจะเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่
สารฆ่าเชื้อโรคคืออะไร
สารฆ่าเชื้อโรคหรือที่เรามักเรียกกันทั่วไปว่า น้ำยาฆ่าเชื้อโรคนั้น ทางการแพทย์เรียกว่า “Disinfectant” เป็นสารที่ใช้กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลายรูปแบบ แต่มีความรุนแรงต่อผิวหนังของสิ่งมีชีวิต จึงเหมาะสำหรับใช้กับพื้นผิวบนสิ่งของต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ เป็นสารประกอบสำคัญที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่ใช้ในครัวเรือน นอกจากนั้นยังนิยมใช้ในสถานพยาบาลด้วย
สารฆ่าเชื้อสามารถแบ่งตามประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้เป็น 3 ระดับ คือ
- สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง (high level disinfectants) เป็นกลุ่มที่มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อสูง สามารถฆ่าเชื้อได้ทุกชนิด ส่วนมากใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนึ่งฆ่าเชื้อได้ เช่น formaldehyde, 30% hydrogen peroxide, chlorinated compounds
- สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพปานกลาง (intermediate level disinfectants) สารในกลุ่มนี้สามารถทำลายแบคทีเรียและไวรัสได้เกือบทุกชนิด นิยมใช้ในห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาล เช่น sodium hypochlorite, ethyl alcohol, isopropyl alcohol
- สารฆ่าเชื้อประสิทธิภาพต่ำ (low level disinfectants) สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อราได้บางชนิด เช่น 3% hydrogen peroxide
สารแบบใดจึงสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
สำหรับการเลือกใช้สารฆ่าเชื้อโรคในกรณีของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทาง Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ใช้ ethyl alcohol (ethanol) ที่ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% หรือ sodium hypochlorite เข้มข้น 0.5% ในการทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแบบปานกลาง สามารถใช้ได้ทั้งในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสถานพยาบาลที่ต้องรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ
เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ เป็นเวลา 1-3 วัน พื้นผิวที่อาจสัมผัสปนเปื้อนโควิด-19 จึงต้องได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโควิด-19 ที่หาได้ตามท้องตลาดดังนี้ (แนวทางการทำความสะอาดเชื้อที่มิใช่สถานพยาบาล 2563)
1. Hydrogen peroxide ความเข้มข้นที่ใช้ 0.5% วิธีผสม ใช้น้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 5 ส่วน (1:5) จะได้ความเข้มข้น 0.5% ใช้ทันทีห้ามเก็บทิ้งไว้ ใช้กับบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด โดยเช็ดทิ้งไว้ 1 นาที ก่อนที่จะล้างออก
ข้อควรระวัง สลายตัวได้ง่ายเมื่อเจอความร้อน
2. ไฮเตอร์ 6% NaOCL ความเข้มข้นที่ใช้ 05-0.5% วิธีผสม ใช้น้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 11 ส่วน ( 1:11) จะได้ความเข้มข้น 0.5% ใช้ทันทีห้ามเก็บทิ้งไว้
ข้อควรระวัง มีกลิ่นค่อนข้างฉุน ทำลายพื้นผิวที่เป็นโลหะได้ หากสัมผัสโดนผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง ห้ามผสมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ
3.แอลกอฮอล์ 70% Ethanol ความเข้มข้นที่ใช้ 70% ไม่ต้องเจือจาง บริเวณที่ใช้พื้นผิวที่มีความสกปรกที่สัมผัส เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ห้องน้ำ โถส้วม ราดทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที
ข้อควรระวัง ติดไฟได้ง่าย
4. เดทตอล แบบมีมงกุฎ Chloroxylenol 4.8% ความเข้มข้นที่ใช้12% วิธีผสม ใช้น้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 39 ส่วน ( 1:39) จะได้ความเข้มข้น 0.12% บริเวณที่ใช้ ใช้ฆ่าเชื้อเสื้อผ้า ทำความสะอาดพื้นผิว
ข้อควรระวัง กรณีทำความสะอาดร่างกายให้อ่านคำแนะนำบนฉลาก
5. เดทตอล 4% Chlrocresol ความเข้มข้นที่ใช้12% วิธีผสม ใช้น้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 15 ส่วน ( 1:15) จะได้ความเข้มข้น 0.25% บริเวณที่ใช้ ใช้ทำความสะอาดพื้นผิว ถูบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ รวมไปถึงเสื้อผ้าได้ดี
ข้อควรระวัง ห้ามใช้กับร่างกายโดยตรง ทำให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้ได้
จะเห็นได้ว่าสารฆ่าเชื้อมีหลายชนิด ดังนั้นข้อสังเกต ควรมีข้อความระบุว่า เป็น “ฆ่าเชื้อโรค” “ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ ”ฆ่าเชื้อไวรัส” และมีเลขทะเบียน อย. กำกับ สำหรับแอลกอฮอล์จะเป็นที่นิยมและแพร่หลาย หาซื้อได้ง่ายจากท้องตลาด เรามารู้จักคุณสมบัติของแอลกอฮอล์เพื่อให้เกิดความมั่นใจกัน
แอลกอฮอล์ (Alcohols)
สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ดีต่อทั้งแบคทีเรีย รา ไวรัส และมีผลต่อเชื้อวัณโรค (Mycobacterium) แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของราหรือแบคทีเรียได้และความสามารถในการแทรกซึมผ่านสารอินทรีย์ต่ำมาก ออกฤทธิ์โดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพและทำลายผนังเซลล์ของเชื้อ แอลกอฮอล์ที่นิยมใช้เป็นยาฆ่าเชื้อคือ ethanol และ isopropanol ซึ่งระเหยได้ จึงเหมาะกับการฆ่าเชื้อบนผิวหนังก่อนฉีดยา โดยทั่วไปแล้ว ethanol ที่ความเข้มข้น 60-80% โดยปริมาตร สามารถฆ่าเชื้อไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (envelope) และไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้มบางชนิดได้ แต่ที่ความเข้มข้น 70% โดยปริมาตร จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดและเป็นความเข้มข้นที่แนะนำให้ใช้ ความสามารถในการฆ่าเชื้อของแอลกอฮอล์จะแปรผันกับจำนวนองค์ประกอบคาร์บอนที่มี หากมีคาร์บอนมากจะมีความสามารถฆ่าเชื้อได้ดีแต่ก็ก่อให้เกิดพิษมากตามไปด้วยเช่นกัน
ขอสรุปว่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่กล่าวมานั้นมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคจริง สิ่งหนึ่งผู้เขียนขอฝากไว้คือ เรื่องการทำความสะอาด ควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันการระคายเคืองของน้ำยาฆ่าเชื้อโรคต่อผิวหนัง ถ้าใช้ผ้าถูพื้นต้องซักผ้าผืนนั้นทันทีหลังการทำความสะอาด ควรคำนึงถึงตำแหน่งที่ต้องเช็ดถูด้วย นั่นคือตำแหน่งที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ เช่น รีโมทคอนโทรล มือเปิดปิดตู้เย็น ที่จับประตู ก๊อกน้ำ สวิทช์ไฟต่างๆ อุปกรณ์ในครัว โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตก็มีโอกาสที่มีเชื้อโรคแฝงอยู่
ข้อควรระวัง คือเราต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากถอดถุงมือ และระวังอย่าให้มือสัมผัสดวงตา จมูก และปาก เพราะระหว่างการทำความสะอาดคุณอาจจะเคลื่อนไวรัสจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดทีละด้านเป็นรูป ตัวเอส (S) สามารถช่วยลดการกระจายเชื้อโรคระหว่างการทำความสะอาดได้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนวทางการทำความสะอาดเชื้อที่มิใช่สถานพยาบาล 2563