ท่าออกกำลังกายของผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ป่วยติดเตียงไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ  จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ  ผู้ป่วยติดเตียงที่นอนตลอดเวลาทำให้ระบบต่างๆเสื่อมลง ดังนั้นผู้ดูแลควรให้ผู้ป่วยติดเตียงได้ออกกำลังกายให้ถูกต้อง  ผู้ดูแลต้องมีความหวังว่าผู้ป่วยติดเตียงจะกลับมานั่ง ยืนและเดินได้  หรืออาจจะกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ  ในขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น  ผู้ดูแลควรต้องช่วยออกกำลังกายเพื่อช่วยเคลื่อนไหวข้อต่างๆของผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้ข้อต่างๆติด ได้แก่ ข้อศอก หัวไหล่ เป็นต้น

เมื่อไม่ได้ออกกำลังกายหรือไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อย ๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะเริ่มตามมา ทั้งการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญหรือขับถ่ายไม่ดี ภาวะเหล่านี้ ก็จะยิ่งนำพาโรคแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ มาอีก ฉะนั้นในผู้ป่วยติดเตียง ย่อมมีความรุนแรงและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่า เพราะไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย

 

ข้อแนะนำก่อนการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยติดเตียง

1.ควรวัดความดันโลหิตก่อน ระหว่างและหลัง เพราะการออกกำลังกายที่มากไปอาจทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนได้ เมื่อพบความดันโลหิตเปลี่ยนไปต้องให้ผู้ป่วยพัก และควรสังเกตใบหน้าของผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยอาจจะไม่ไหวได้ ควรหยุดหรือเลื่อนการออกกำลังกายไป

2.ผู้ดูแลควรสวมผ้าปิดปากในการออกกำลังกายผู้ป่วยติดเตียง  เพราะผู้ป่วยติดเตียงจะเปราะบางติดเชื้อได้ง่าย

ข้อแนะนำท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆแก่ผู้ป่วยติดเตียง

ท่าที่1.ดูแลข้อไหล่

ให้ผู้ป่วยนอนหงายแขนแนบลำตัว จัดให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบายอาจใช้หมอนรองใต้เข่าทั้งสองข้าง จากนั้นยกแขนผู้ป่วยขึ้นเหนือศีรษะ โดยมีมืออีกข้างที่ไม่ได้ใช้ยก จับประคองบริเวณข้อศอกของผู้ป่วยไว้ แล้วค่อย ๆ วางแขนลงที่เดิม เคลื่อนได้แค่ไหนแค่นั้นไม่ต้องฝืนเพราะผู้ป่วยติดเตียงอาจบาดเจ็บได้

 

ท่าที่2.ท่ากางแขน

กางแขนผู้ป่วยออกทางด้านข้าง โดยจับประคองบริเวณข้อศอกและข้อมือของผู้ป่วยไว้ แล้วค่อย ๆ กางถึงจุดที่ตึงแต่ไม่ปวด จากนั้นหุบแขนลงแนบข้างลำตัว ควรสังเกตสีหน้าของผู้ป่วยด้วย  ถ้าผู้ป่วยสามารถช่วยในท่านี้ด้วยได้  ควรให้คำชมว่าดีมากและให้กำลังใจในการทำ  ผู้ดูแลค่อยๆกางแขนไม่ต้องเร่งผู้ป่วยติดเตียง

 

ท่าที่3.บริหารมือ

ผู้ดูแลค่อยๆวางมือผู้ป่วยบนมือผู้ดูแลในท่าหงายมือ ผู้ดูแลค่อยๆจับปลายนิ้วให้กำและคลายออก ท่านี้ถ้าผู้ป่วยมีแรงอาจหาอุปกรณ์ช่วยให้ผู้ป่วยกำและแบ

 

ท่าที่4.บริหารบริเวณขา

โดยให้ผู้ดูแลจับบริเวณหัวเข่าและข้อเท้าของผู้ป่วย(ข้อเท้าให้อยู่ในอุ้งมือของผู้ดูแล) แล้วค่อย ๆ งอเข่าขึ้นจนสุด แล้วเอาลงมาท่าเดิม  ผู้ดูแลค่อยๆโยกตัวไปมา (ผู้ดูแลจะไม่ปวดหลัง)  ผู้ดูแลควรบริหารขาทั้งซ้ายและขวาสลับไปมา

 

ท่าที่5.กางขาออก

ผู้ดูแลขยับหมอนรองเข่าออก  จากนั้นจับข้อเข่าและข้อเท้าค่อยๆกางออก  ผู้ดูแลค่อยๆโยกตัวไปมาหลังตรง (ผู้ดูแลจะไม่ปวดหลัง)

 

ท่าที่6.ชันเข่า

ให้ผู้ดูแลจับบริเวณหัวเข่าและข้อเท้าของผู้ป่วย จากนั้นงอเข่าขึ้นประมาณ 90 องศา ผู้ดูแลประคองที่หัวเข่าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยอาจตั้งเข่าได้ข้างใดข้างหนึ่งผู้ดูแลช่วยประคองอีกข้างหนึ่ง กระตุ้นและให้กำลังใจผู้ป่วยโดยการชม  ในท่านี้ถ้าผู้ป่วยพอมีแรงให้ผู้ป่วยช่วยยกสะโพกขึ้นค่อยๆทำ สิ่งสำคัญต้องสังเกตใบหน้าและเช็คความดันโลหิตระหว่างออกกำลังกายและสิ้นสุดการออกกำลังกาย

แต่ละท่านั้น ให้ทำซ้ำท่าละ 20 ครั้ง จากนั้นให้เปลี่ยนไปทำกับขาและแขนอีกข้างของผู้ป่วย ทำซ้ำท่าละ 20 ครั้งเช่นกัน ควรบริหารเช่นนี้ทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง

คลิกเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าบริหารมือและขาของผู้ป่วยติดเตียง

 

ข้อควรระวังการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยติดเตียง

  • การเคลื่อนไหวข้อให้ผู้ดูแลควรทำการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยช้าๆไม่ต้องเร่งรีบ
  • ควรทำการเคลื่อนไหวให้สุดองศาของการเคลื่อนไหวที่ปกติ แต่ควรระวังในรายที่มีการดามเหล็กอยู่ภายในข้อ ภายในกระดูก ต้องไม่ทำเกินกว่าที่ผู้ป่วยทำได้
  • ในแต่ละท่าทำซ้ำๆท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2 รอบ
  • ระหว่างทำการออกกำลังกายนั้น ผู้ดูแลควรบอกแก่ผู้ป่วยว่าให้คิดอยู่เสมอว่ากำลังทำการเคลื่อนไหวด้วยตัวผู้ป่วยเอง
  • ไม่ควรทำการเคลื่อนไหวหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือในขณะผู้ป่วยมีไข้
  • ขณะทำการเคลื่อนไหวข้อ ถ้าผู้ป่วยปวด หรือ พบปัญหาอย่างอื่นตามมา ควรหยุดและปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยนอนอย่างเดียวนาน ๆ ควรให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมานั่งบ่อย ๆ
  • ควรได้รับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
  • พยายามสอนญาติผู้ป่วยหรือผู้ดูแลให้ทำการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยอยู่เป็นประจำ

หากผู้ดูแลบริหารร่างกายด้วยท่าเหล่านี้แก่ผู้ป่วยติดเตียง เป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นของผู้ป่วยติดเตียงแข็งแรงขึ้น ผู้ป่วยติดเตียงสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บปวดและลดการเกิดแผลกดทับได้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก่อนผู้ป่วยติดเตียงจะบริหารร่างกายใด ๆ ผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยติดเตียง