ท่าออกกำลังกายง่ายๆ ภายใน 10 นาที สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ท่าออกกำลังกายง่ายๆ ภายใน 10 นาที สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ท่าออกกำลังกายง่ายๆ ภายใน 10 นาที สำหรับผู้ป่วยติดเตียง สามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะข้อติดซึ่งเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากร่างกายอยู่ในท่าเดิมนานๆ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ จะทำให้ข้อต่อต่างๆ ยึดติดไม่สามารถเหยียดข้อออกได้ หากฝืนเหยียดออก จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บทรมาน ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะแก้ไขได้ยากอีกด้วย ขัอติดที่พบบ่อยคือข้อไหล่

ท่าออกกำลังลดข้อติด

ข้อไหล่เป็นข้อต่อที่มีโครงสร้างทางกายวิภาคศาสตร์ซับซ้อน ช่วยในการเคลื่อนที่ได้หลายทิศทางในหลายระนาบ มีความสำคัญต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การที่ข้อไหล่สามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสังเกตอาการเจ็บปวดเล็กน้อยได้ จนทำให้เกิดการละเลยการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บที่มากขึ้น จนทำให้การทำกิจกรรมหรือพิสัยการเคลื่อนไหวลดลง และนำไปสู่ข้อไหล่ติดแข็ง (frozen shoulder) ในที่สุด

อาการแสดง
โดยทั่วไปผู้ป่วยสังเกตว่าความสามารถในการเอื้อมมือไปด้านหลังลดลงเมื่อทำกิจกรรม เช่น ติดตะขอชุดชั้นใน หยิบกระเป๋าสตางค์ออกจากกระเป๋ากางเกงด้านหลัง โดยอาการส่วนใหญ่จะรู้สึกปวดบริเวณข้อไหล่ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของอาการได้ โดยอาการจะเป็นมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อไหล่ และเบาลงเมื่อได้พักการใช้งานหรือหยุดการเคลื่อนไหว อาจจะมีอาการปวดในเวลากลางคืน รบกวนการนอนได้ มีอาการปวดเมื่อย ผู้ป่วยนอนทับไหล่ด้านที่มีปัญหา พร้อมกับความฝืดและขัดที่ข้อไหล่มากขึ้น ขณะเดินแขนจะไม่แกว่งตามธรรมชาติ

ข้อไหล่ติดในผู้ป่วย

ข้อไหล่ติดแข็ง (frozen shoulder) หรือเยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบยึดติด (adhesive capsulitis) เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดตามมาหลังเกิดการอักเสบบริเวณข้อไหล่ เอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นยึดข้อต่อบริเวณข้อไหล่จะสูญเสียความยืดหยุ่นและหดสั้นลง เยื่อหุ้มข้อไหล่หนาตัวขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดขัด พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาแบบประคับประคองที่ช่วยบรรเทาอาการปวดขัด และช่วยเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว เช่น การรักษาด้วยความร้อนและความเย็น การนวดคลายกล้าม-เนื้อ การขยับข้อต่อ ร่วมกับการออกกำลังกายที่ถูกต้องเป็นประจำ และการจัดท่าออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหว เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบสะบัก โดยขึ้นอยู่กับอาการและระยะของโรค เพื่อลดอาการปวดและเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ดีขึ้น

การรักษาทางกายภาพบำบัดกรณีข้อไหล่ติดแข็ง ดังนี้

  1. การใช้ความร้อน ช่วยลดความตึงตัวในเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ มี 2 แบบ คือการให้ความร้อนตื้นเช่น แผ่นร้อน (hot pack) และการใช้ความร้อนลึก เช่น การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง (ultra-sound) เป็นต้น
  2. การใช้ความเย็น ช่วยลดการอักเสบในข้อไหล่ยึดติดระยะแรก หรือหลังจากการดัดดึงข้อต่อเพื่อป้องกันการอักเสบ
  3. การออกกำลังกาย โดยเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มไหล่ เพิ่มช่วง
    การเคลื่อนไหวและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบสะบัก ทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

บำบัดข้อไหล่ติด

ขอแนะนำ ท่าออกกำลังกายง่ายๆ ภายใน 10 นาที สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่มีปัญหาข้อไหล่ติด

  1. ท่ายกไหล่ไปด้านหน้า (forward flexion) ในท่านอนหงาย ยกแขนข้างที่มีปัญหาขึ้นเหนือศีรษะโดยใช้มืออีกข้างพยุงบริเวณข้อศอก ออกแรงดันแขนให้ยืดมากที่สุดเท่าที่ทำ
  2. ท่าเอื้อมแขนไปด้านตรงข้าม (horizontal adduction) ในท่านอนหงาย ยกแขนข้างที่มีปัญหาขึ้น วางมือบนไหล่อีกด้าน ใช้มือด้านดีพยุงบริเวณข้อศอก ออกแรงดึงไปด้านตรงข้ามเท่าที่ทำได้
  3. ท่าหมุนแขนออก (external rotation) ในท่านอนหงาย กางแขนเท่าที่ทำได้ กางแขนด้านที่มีปัญหา งอศอก 90 องศา ออกแรงหมุนแขนไปทางด้านศีรษะเท่าที่ทำได้
  4. ท่าหมุนแขนเข้า (internal rotation) ในท่านอนหงาย กางแขนเท่าที่ทำได้ กางแขนด้านที่มีปัญหา งอศอก 90 องศา ออกแรงหมุนแขนไปทางด้านปลายเท้า เท่าที่ทำได้

การรักษาผู้ป่วยข้อไหล่ติดแข็งด้วยวิธีการต่างๆ ร่วมกับการการออกกำลังกายสามารถช่วยให้การทำงานของข้อไหล่กลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่าการรักษาเพียงอย่างเดียว และยังพบอีกว่าการออกกำลังกายที่บ้านทุกวันเสริมกับการรักษา จะช่วยให้อาการปวดบริเวณข้อไหล่ลดลงและของการหายเป็นปกติเร็วขึ้นได้ ปัญหาข้อไหล่ติดมักจะเกิดกับผู้ดูแลได้ด้วยเช่นกัน

ท่าออกกำลังกายง่ายๆ ภายใน 10 นาที สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ขอแนะนำท่าออกกำลังกายง่ายๆแก่ผู้ดูแล/ญาติผู้ป่วย ดังนี้

  1. ท่ายืน ยกแขนขึ้น หรือไต่กำแพง (forward flexion) ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง วางมือด้านที่มีปัญหาไว้บนกำแพง แล้วค่อย ๆ ให้นิ้วมือไต่ขึ้นกำแพงไปเรื่อย ๆ จนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
  2. ท่ายืน กางแขนขึ้น หรือไต่กำแพงทางด้านข้าง (abduction) ยืนหันด้านข้างเข้าหากำแพง วางมือด้านที่มีปัญหาไว้บนกำแพง แล้วค่อยๆให้นิ้วมือไต่ขึ้นกำแพงไปเรื่อย ๆ ในท่ากางแขน จนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. ท่ายืนถือไม้ด้านหลัง (extension) ยืนตรงมือจับไม้พลองไว้ทางด้านหลัง ออกแรงเหยียดแขนขึ้นไปทางด้านหลังเท่าที่ทำได้ หากเจ็บมากให้ลดมุมการเคลื่อนไหวลงเล็กน้อย
  4. ท่ายืน เอื้อมแขนด้านมีปัญหาไปไหล่ด้านตรงข้าม (horizontal adduction) ยืนตรงยกมือข้างที่มีปัญหาไปแตะไหล่อีกข้าง และใช้มือด้านดีดันข้อศอกมือที่แตะไหล่เข้าหาตัว จนรู้สึกตึงด้านหลังของข้อไหล่
  5. ท่ายืน มือไขว้หลัง (internal rotation) ยืนตัวตรง มือด้านที่ดีจับบริเวณข้อมือไหล่ด้านที่มีปัญหาไว้ทางด้านหลังจากนั้นค่อย ๆ ออกแรงดึงจนกระทั่งรู้สึกตึงบริเวณไหล่โดยไม่รู้สึกเจ็บ

แม้ว่าผู้ป่วยติดเตียง จะไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ แต่ผู้ดูแลสามารถช่วยทำบริหารร่างกายแก่ผู้ป่วยติดเตียงได้ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่มีสาเหตุมาจากการไม่เคลื่อนไหวร่างกายได้ ดังนั้น การช่วยทำกายบริหารร่างกายแก่ผู้ป่วยติดเตียง จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ลองทำท่าบริหารร่างกายให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยลดความเจ็บปวดอันเกิดจากข้อไหล่ติดได้ และจะพบผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น

บริหารร่างกายให้ผู้ป่วย