ผู้สูงอายุจะพบว่ามีผิวบาง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดแผลกดทับนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง เพราะผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงไม่ค่อยมีแรงที่จะเคลื่อนไหวได้สะดวก เมื่อนอนท่าไหนก็จะอยู่ท่านั้นตลอดเวลา ซึ่งจะพบว่าบริเวณที่ไม่ขยับจะเกิดแผลกดทับได้เนื่องจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยที่นอนนาน / ผู้ป่วยติดเตียง ได้แก่การเกิดแผลกดทับ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถป้องกันได้
การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงมีความสำคัญอย่างมาก โดยอย่างช้าที่สุดการพลิกตะแคงตัวควรจะเกิดขึ้นประมาณ 2 ชั่วโมงครั้ง เพราะถ้าเซลล์ใต้ปุ่มกระดูกขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นเวลานานกว่านี้ อาจตายได้และเกิดเป็นแผลกดทับ เมื่อผู้ป่วยติดเตียงที่นอนหงายนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจจะเกิดแผลกดทับที่ก้นกบง่ายขึ้น เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดตามแรงโน้มถ่วงของโลก อีกบริเวณ คือ ส้นเท้าที่จะเกิดแผลกดทับได้ง่าย เราต้องใช้หมอนนุ่มๆรองเท้าทั้งสองข้างเพราะสามารถช่วยลดแรงกดบริเวณส้นเท้า หลังจากนั้นให้ใช้หมอนข้างหนุนช่วงใต้เข่าไว้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกเกร็งที่หลังเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังหย่อนตัวลงและช่วยยกส้นเท้าให้สูงลอยจากพื้น ซึ่งเป็นการจัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่นอนในท่านอนหงาย และประมาณ 2 ชั่วโมงจึงมาเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วย แต่การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยต้องดูลักษณะของที่นอนด้วย ถ้าเป็นที่นอนที่แข็งมากต้องพลิกตัวบ่อยหรือถ้าน้ำหนักตัวของผู้ป่วยติดเตียงมากก็ต้องพลิกก่อน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นที่นอนนุ่ม ที่นอนที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ หรือใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆที่ช่วยป้องกันแผลกดทับ เราอาจจะพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงช้ากว่า 2 ชั่วโมงได้
ข้อมูลจากงานวิจัย กล่าวว่าการลดแรงกดทับ โดยการเปลี่ยนท่านอนของผู้ป่วยติดเตียง และการใช้ที่นอนเฉพาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง จะทำให้อัตราการเกิดอุบัติการณ์ของแผลกดทับไม่แตกต่างกันระหว่าง การเปลี่ยนท่านอนของผู้ป่วยการพลิกตัวทุก 2, 3 หรือ 4 ชั่วโมง ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยติดเตียงจะได้รับการพลิกตัวมากที่สุดในช่วงกลางวันและเย็นและมีความถี่ในการพลิกตัวน้อยที่สุดในช่วงกลางคืน อย่างไรก็ตามเมื่อพบผิวหนังเริ่มแดงควรเพิ่มการดูแลผิวหนังผู้ป่วยและการจัดท่านอนแก่ผู้ป่วยติดเตียง
การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยมีความสำคัญ หลักในการพลิกตะแคงตัวมีดังนี้
1.การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงในท่านอนหงาย ต้องนำหมอนที่ใช้หนุนขาออกทั้งหมดก่อน จัดการผ้าปูที่นอนให้เรียบตึงทั้งสองด้าน เพราะผ้าที่มีรอยย่นเมื่อผู้ป่วยพลิกตัวแล้วจะทำให้ผิวหนังเกิดรอยย่นและจะเกิดแผลกดทับได้ง่าย จากนั้นใช้หมอนนุ่มเล็กวางไล่ตามปุ่มกระดูกทุกส่วน ตั้งแต่หัวไหล่ ต้นขา ปุ่มใต้เข่าและตาตุ่ม เพื่อป้องกันการกดทับมากเกินไป
2.ในกรณีเตียงผู้ป่วยติดเตียงเล็ก เมื่อพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยจะต้องขยับตัวผู้ป่วย ซึ่งถ้าผู้ป่วยสามารถขยับร่างกายได้ก็ให้ผู้ป่วยช่วยโดยการชันเข่าขึ้น หลังจากนั้นเราก็ใช้วิธียกผ้าที่ปูนอน แต่สำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ เช่น คนเป็นอัมพาต เราต้องยกทั้งหมดแต่ต้องช่วยกัน 2 คนขึ้นไป โดยไม่ลากผู้ป่วยติดเตียงเพียงคนเดียว
3.กรณีที่เตียงนอนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องเลื่อนตัวผู้ป่วยติดเตียง แต่สามารถพลิกตัวผู้ป่วยได้ตามต้องการ การพลิกเพียงแค่จับหัวไหล่กับสะโพกผู้ป่วยแล้วค่อยพลิกตะแคงตัว
4.หลังจากนั้นจัดร่างกายให้เข้าที่กับหมอนที่รองและใช้หมอนข้างรองด้านหลัง ที่สำคัญต้องสำรวจปุ่มกระดูกต่างๆ ที่สามารถเกิดแผลกดทับให้ทั่วและดูบริเวณต่างๆว่ามีรอยแดง รอยถลอกหรือไม่ในทุกครั้งที่มีการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียง สำหรับเวลานอนกลางคืนให้ใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วย คือ ที่นอนป้องกันแผลกดทับ ไม่ว่าจะเป็นที่นอนลม ที่นอนยางพารา หรือแผ่นเจลรอง ลดการกดทับปุ่มกระดูก ซึ่งสามารถช่วยได้มากขึ้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
กล่าวโดยสรุป การจัดท่าผู้ป่วยติดเตียงในท่านอนควรพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง และควรมีการจัดบันทึกเวลาที่เปลี่ยนท่า มีการใช้นวัตกรรมนาฬิกาเปลี่ยนท่า ดังนี้
* 6 โมงเช้า --> ตะแคงซ้าย
*8 โมงเช้า --> นอนหงาย
*10 โมงเช้า --> ตะแคงขวา
*เที่ยงวัน --> ตะแคงซ้าย
*บ่าย 2 --> นอนหงาย
*4 โมงเย็น --> ตะแคงขวา
*6 โมงเย็น --> ตะแคงซ้าย
ในการพลิกตะแคงตัวในท่านอนควรให้สะโพกทำมุม 30 องศากับที่นอน เพื่อลดแรงกดที่ตรงกัน และควรใช้หมอนสอดคั่นระหว่างหัวเข่าและระหว่างตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง รอบบริเวณน่องหรือขาส่วนล่างให้ส้นเท้าลอยเหนือพื้นของที่นอน เพื่อป้องกันแรงกดเฉพาะที่ ส่วนท่านั่งอยู่ในรถเข็นควรนั่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง ท่านั่งที่เกิด แรงกดน้อยคือ ท่านั่งให้หลังพิงพนักเก้าอี้ ให้ขาหย่อน เล็กน้อย หากผู้ป่วยที่อัมพาตครึ่งล่าง แนะนำให้ผู้ป่วยคลื่อนไหวร่างกายในการเอียงร่างกายไปทางขวา ทางซ้าย โน้มตัวไปข้างหน้า ทุก 30 นาที ครั้งละประมาณ 30 วินาที
ดังนั้นการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับทุก 2 ชั่วโมง ร่วมกับการจัดท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันแผลกดทับ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกวิธี การดูแลผิวหนังผู้ป่วยที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือการติดตามและประเมินแผลกดทับอย่างใกล้ชิด กล่าวคือเมื่อพบผิวหนังเริ่มแดงหรือถลอกผู้ดูแลควรรีบแก้ไขโดยทันที เพื่อไม่ให้เกิดเกิดแผลกดทับใหม่ขึ้น หรือเพื่อให้เข้าใจระดับของแผลกดทับ และรักษาได้ถูกต้องเหมาะสม