แผลกดทับนับเป็นปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อย มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว เช่นผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และผู้สูงอายุเป็นต้น เมื่อมีแผลกดทับเกิดขึ้นค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการป้องกันการเกิดแผลกดทับและการรักษาแผลกดทับร่วมกันจึงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติลงได้ดีทีเดียว และวิธีที่ป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ คือการใช้ที่นอนลมในผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งตัวที่นอนลมเอง จะช่วยกระจายแรงกดทับของร่างกายไม่ให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกกดทับเป็นเวลานาน ๆเป็นการป้องกันการเกิดแผลกดทับได้
คำถามที่พบบ่อยจากผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คือ ควรใช้ที่นอนลมแบบไหนดี ถึงจะเหมาะกับผู้ป่วยติดเตียง และการดูแลที่นอนลมควรทำอย่างไร มารู้จักที่นอนลมว่ามีกี่ประเภท และคุณสมบัติของแต่ละประเภทกัน
1. ที่นอนลม Bubble เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการป้องกันการเกิดแผลกดทับหรือเป็นแผลกดทับแล้วเพราะที่นอน Bubbleดูแลรักษาทำความสะอาดง่าย
คุณสมบัติของที่นอนลม Bubble
- วัสดุที่ใช้ผลิตที่นอนลม Bubble ทำมาจากพีวีซีเนื้อเหนียวมีความยืดหยุ่นแข็งแรงไม่อับชื้นทนทาน ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำยาเคมี
- ที่นอน Bubble ถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งาน และสะดวกกับผู้ดูแลและทำความสะอาดง่ายในกรณีที่นอนลมสกปรกจากของเสียจากตัวผู้ป่วย น้ำยาทำความสะอาดแผลหรือทำความสะอาดผู้ป่วยบนที่นอน
- ที่นอน Bubble สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 200 กิโลกรัม
- กรณีที่นอนรั่ว สามารถทำการซ่อมแซมและใช้งานได้ง่าย
2. ที่นอนลมแบบลอน เหมาะกับผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหว เช่นอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือเกิดอุบัติเหตุต้องนอนมากกว่าปกติและผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้องนอนพักฟื้นเป็นเวลานานๆเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดแผลกดทับ
คุณสมบัติของที่นอนลมแบบลอน
- วัสดุที่ใช้ผลิตที่นอนลมควรเป็นไนล่อนเคลือบพีวีซี ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงระบายความอับชื้นได้ดีไม่ระคายเคืองต่อผิวของผู้ป่วย
- จำนวนลอนของที่นอนควรมีประมาณ 20 ลูก และขนาดของลูกลอนควรมีความเหมาะสมกับสรีระของคนไทย ขนาดของลูกลอน ต้องไม่ใหญ่ หรือมีช่องว่างระหว่างลอนมากเกินไปเพื่อเป็นการช่วยกระจายแรงกดทับของผู้ป่วยได้ดีขึ้น
- สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 200 กิโลกรัม
- กรณีที่นอนรั่วเสียหายหรือใช้งานไม่ได้ สามารถถอดเปลี่ยนได้เป็นลูก ๆ หรือเปลี่ยนเฉพาะลูกลอนใหม่ทั้งผืน
- ผ่านการรับรองจาก อย. (องค์การอาหารและยา)
คุณสมบัติของปั๊มลม
- มีฟิวส์ตัดไฟเพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟเกินที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเพราะเวลามีปัญหาผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
- มีสัญญาณไฟเตือนแสดงการทำงานของปั๊มลม เพื่อที่จะได้ทราบว่าตอนนี้ปั๊มของเราปกติดี และเตือนเมื่อปั๊มมีปัญหา
- มีปุ่มปรับแรงดันลมเพราะถ้าที่นอนแข็งเกินไปสามารถปรับลมให้อ่อนลงได้ ชิ้นส่วนของปั๊มผลิตจากพลาสติกเนื้อเหนียว ไม่เป็นสื่อนำ ไฟฟ้าซึ่งมีความทนทานมากและสามารถหาอะไหล่ซ่อมได้จริง ซ่อมแซมใช้งานได้ง่าย
- ผ่านการรับรองจาก อย. (องค์การอาหารและยา)
คำแนะนำและข้อควรระวังการใช้ที่นอน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีแผลบาดเจ็บหรือแผลเปิด
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการดึงกระดูก
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่บาดเจ็บเกี่ยวกับไขสันหลัง
- ควรถอดปลั้กทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน
- ไม่ควรใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
- ใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพ
- ไม่ควรให้แผ่นที่นอนลมโดนของมีคม
ทำอย่างไรหากเกิดไฟดับระหว่างใช้ที่นอนลม
ปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับเป็นปัญหาที่พบบ่อยในหลายพื้นที่ บางพื้นที่จะมีการแจ้งบอกล่วงหน้ากรณีมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลานาน บ่อยครั้งไฟฟ้าดับเองจาก ฝนตกหนัก หรืออื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงสิ่งหนึ่งที่ต้องหมั่นเฝ้าดู คือ สัญญาณไฟเตือนแสดงการทำงานของปั๊มลม เมื่อพบไฟฟ้าดับแน่นอนสัญญาณไฟเตือนจะดับ ผู้ดูแลควรพึงระลึกไว้ว่าลูกลอนของที่นอนลมจะแฟบและอ่อนแรงลง
สิ่งที่ผู้ดูแลควรปฏิบัติเมื่อเกิดไฟดับระหว่างใช้ที่นอนลม ดังนี้
- ผู้ดูแลควรแจ้งผู้ป่วยให้ทราบว่าไฟฟ้าดับ ผู้ดูแลควรให้กำลังใจและบอกผู้ป่วยว่าผู้ดูแลอยู่เคียงข้างผู้ป่วยตลอดเวลา
- ขณะที่ไฟฟ้าดับนั้นผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลกดทับตามจุดที่มีการลงน้ำหนักต่าง ๆ
- เมื่อไฟฟ้าเริ่มทำงาน ผู้ดูแลตรวจดูสัญญาณไฟของที่ปั๊มลมว่ากลับทำงานไหม เมื่อพบสัญญาณไฟของที่ปั๊มลมไม่ทำงาน ควรตรวจดูปลั๊กไฟว่าเสียบหรือไม่ ปลั๊กหลวมหรือไม่
- เมื่อเช็คว่าที่ปั๊มลมเริ่มทำงานแล้ว ควรสำรวจลูกลอนของที่นอนลมว่าพองทุกลูกลอนหรือไม่ ที่ปั๊มลมเริ่มกลับมาทำงานจะใช้เวลาให้ลูกลอนพองตัวประมาณ 10-15นาที ควรปรับระดับแรงดันให้สูงสุด (เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันลม) เมื่อลูกลอนพองตัวดีแล้วควรลดระดับแรงดันลงครึ่งนึง
- เมื่อที่ปั๊มลมทำงานไปได้10 นาที แต่พบว่าลูกลอนไม่พองตัว ควรตรวจจุดต่างๆ ได้แก่ปุ่มที่ปล่อยลมออกกรณีฉุกเฉินว่าปิดสนิทไหม เพราะลมอาจรั่วที่จุดนี้ หรือจุดรอยต่อท่อตรงที่ปั๊มลมว่าหลวมหรือหลุดไหม
- เมื่อตรวจทุกจุดแล้วพบว่าเรียบร้อยดี แต่ที่ปั๊มลมไม่มีสัญญาณไฟ แสดงว่าเครื่องปั๊มลมมีปัญหา ควรนำที่นอนลมออกมาส่งช่างตรวจสอบเพื่อแก้ไข
หมายเหตุ การนำที่นอนลมออกจากผู้ป่วยต้องทำด้วยความระมัดระวัง ผู้ดูแลควรมีผู้ช่วยเหลือในการนำที่นอนลมออกมาจากเตียง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั้นเทคนิคการเคลื่อนย้ายสำคัญมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ช่วยระหว่างการเคลื่อนย้ายและพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียง ไม่ดึงลากตัวผู้ป่วยไปบนผ้า ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยยกหรือเคลื่อนย้ายตัวเช่น แผ่นสไลด์ แผ่นยก หรือผ้ารองตัว ช่วยยกตัวผู้ป่วยขึ้นจากเตียง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ผิวหนัง หรือให้ญาติหรือผู้ดูแลช่วยผู้ป่วยในการพลิกตะแคงตัว หรือช่วยให้ผู้ป่วยขยับร่างกายไปทีละส่วนในการเคลื่อนย้ายที่นอนลมออกจากตัวผู้ป่วย
ขอสรุปว่าที่นอนลมนั้นมีความสามารถในการกระจายแรงกดทับของน้ำหนักร่างกายได้เป็นอย่างดี หากผู้ดูแลต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว ความใส่ใจยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ การเลือกใช้ที่นอนลมมาใช้ปูแทนที่นอนแบบธรรมดาก็สร้างความมั่นใจกับผู้ดูแล ความกังวลเมื่อเกิดไฟฟ้าดับในการใช้ที่นอนลมคงจะลดลงเมื่อผู้ดูแลทราบถึงแนวทางปฏิบัติ สิ่งที่ยังต้องคำนึงถึงผู้ป่วยติดเตียงอย่างมาก คือ การเปลี่ยนท่าทาง การจัดท่าทางที่เหมาะสม การใช้วิธีการยกแทนการลากผู้ป่วยเมื่อต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยรวมถึงการดูแลผิวหนังให้มีความแข็งแรง ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างแน่นอน