สุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีความสําคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะต้องให้การดูแลผู้ป่วยตลอดทั้งวันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ไม่มีเวลาส่วนตัวหรือเวลาที่พักผ่อนที่เพียงพอ และหลายๆครั้งที่ผู้ป่วยติดเตียงมักจะมีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งสร้างความเครียดสะสมให้กับผู้ดูแล หรือเนื่องด้วยกิจกรรมที่ทำให้กับผู้ป่วยติดเตียง ก่อให้เกิดความรู้สึกซ้ำซากและเกิดความเบื่อหน่ายความเครียดสะสมจนอาจกลายเป็นผู้มีปัญหาด้านจิตใจได้
อารมณ์ (emotion) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดเป็นความรู้สึกสุข(เช่น ชอบ/พอใจ/ดีใจ เป็นต้น) ความรู้สึกทุกข์ (เช่น ไม่ชอบ/ไม่พอใจ/เสียใจ เป็นต้น) ซึ่งเป็นกลไกลภายในที่ผลักดันให้เกิดการแสดงออกมาสู่ภายนอกทางน้ำเสียง คำพูด สีหน้า และท่าทาง โดยส่วนใหญ่มักจะแสดงพฤติกรรมการแสดงออกมาในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ความคิดลบที่เกิดขึ้น เช่นคิดซ้ำๆ ถึงคำพูด/คำด่า/คำบ่น ของผู้ป่วยติดเตียงหรือญาติ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียด ยิ่งต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆรอบตัว ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจร่วมด้วย
ดังนั้นผู้ดูแลควรมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ด้วยตนเองดังนี้
1.รู้เท่าทันหรือไวต่อความคิด ความรู้สึกในเชิงลบที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลให้อารมณ์ดังกล่าวลดความรุนแรงลงได้บ้าง เช่น เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มไม่พอใจ ให้บอกกับตัวเองว่า ”ฉันกำลังไม่พอใจ” จะช่วยลดความไม่พอใจลงได้บ้าง มีสติมากขึ้นทำให้ใจเย็นลง ถ้าทำไม่ได้ให้เดินออกจากบริเวณนั้นไปก่อน
2.ใช้เทคนิคการผ่อนคลายที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่นการมีสติรับรู้ลมหายใจเข้าออก จะช่วยทำให้อารมณ์และจิตใจกลับเข้าสู่ภาวะสงบ หรือใช้การสวดมนต์ นั่งสมาธิตามความถนัดของแต่ละบุคคล
3.การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สามารถทำได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนที่รู้สึกเครียด โดยนั่งหรือนอนหลับตาในท่าที่สบายแล้วบอกตัวเองทำซ้ำๆ จนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย
4.การปรับเปลี่ยนความคิดให้เป็นความคิดเชิงบวก (positive thinking) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดพลังในการใช้ชีวิต ทำให้เรามองเห็นประโยชน์ของปัญหา เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเตียงทำให้ไม่มีเวลาออกไปในเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่า2019เช่นนี้ ทำให้เราปลอดภัยไม่ต้องไปสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก
5.การทำกิจกรรมต่างๆที่ชอบ หรือได้มีการออกแรงที่อัดแน่นในใจออกไปอย่างเหมาะสม เช่น การถอนหญ้า ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมสิ่งของจะช่วยให้ได้ออกแรงระบายอารมณ์การออกกำลังกาย การร้องเพลง เต้นรำ เป็นต้น
6.หาวิธีให้ตัวเองยิ้ม/หัวเราะ ด้วยการดูหนังตลก อ่าน/ฟังเรื่องขำขัน เนื่องจากสมองของเรามีความเชื่อมโยงกับอารมณ์ และการแสดงออกทางสีหน้าของเราเมื่อเราเกิดความเครียด เรามักจะเก็บความเครียดเอาไว้จำนวนมากและแสดงออกทางสีหน้าของเรา ดังนั้นการยิ้มหรือหัวเราะสามารถช่วยให้เราบรรเทาความเครียด
7.ระบายความไม่สบายใจ/คับข้องใจกับคนสนิทที่ไว้วางใจ โดยเลือกคนที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์/ปัญหาที่เรากำลังมีอยู่เพื่อให้เขารับฟัง และเป็นกำลังใจให้กับเรา
8.สิ่งที่ไม่ควรทำขณะที่ผู้ดูแลรู้สึกว่าตนเองโกรธจนควบคุมตัวเองไม่ได้
8.1 หลีกเลี่ยงการทะเลาะเพราะจะทำให้ลุกลามใหญ่โตได้ง่าย โดยเฉพาะกับทะเลาะกับผู้ป่วยติดเตียง
8.2 ห้ามคิดหมกมุ่นอยู่กับคนหรือเรื่องที่ทำให้โกรธ เนื่องจากจะทำให้ความรู้สึกโกรธเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้เกิดความรุนแรง
แนวทางสำหรับบุคคลในครอบครัวควรติดตามผู้ดูแลเมื่อผู้ดูแลเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า
- วางแผนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา
- หาอุปกรณ์เสริมในการช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล ให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงทำได้ง่ายขึ้น และสะดวกขึ้น
- ถ้าเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
- แบ่งหน้าที่ด้านต่างๆให้ญาติพี่น้องคนอื่นได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันบ้าง เช่นภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยติดเตียงมาโรงพยาบาล
- หาเวลาให้ผู้ดูแลพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบบ้างเพื่อผ่อนคลายความเครียด
- ดูแลและพูดคุยกับผู้ดูแล จัดให้ผู้ดูแลพบปะสังสรรค์ เข้าสังคมบ้าง นอกจากบรรเทาความเครียดแล้วอาจได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาของตนเองได้
- ติดตามผู้ดูแลให้ดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- แนะนำให้ผู้ดูแลรู้จักปล่อยวางเสียบ้าง อย่าคาดหวังกับสิ่งรอบตัวสูงจนเกินไป เช่น อยากให้ผู้ป่วยติดเตียงหายขาดจนลุกมาเดินได้ กินเองได้ อยากให้ญาติทุกคนมาช่วยดูแลกันพร้อมหน้าตลอดเวลา
- บุคคลในครอบครัวควรแบ่งเวลาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักและบุคคลในครอบครัวของตนเองบ้าง แทนที่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ผู้ป่วยติดเตียงคนเดียว
- สำหรับบางกรณี อาจจำเป็นต้องไปฝากผู้ป่วยติดเตียงไว้ในสถานพยาบาลบ้าง หากผู้ดูแลติดธุระหรือรู้สึกเกินกำลังแล้ว
สุดท้ายถ้าผู้ดูแลเริ่มเหนื่อยล้าและไม่สามารถกำจัดความเหนื่อยล้าไปได้ ความรู้สึกเหล่านี้จะสะสมทำให้เกิดความเครียดตามมา ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกท่าน กำลังใจสำคัญที่สุดที่ผู้ดูแลควรได้รับจากสมาชิกในครอบครัว จริงอยู่ที่งานดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นงานที่ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจ และเป็นงานที่ยากที่สุดสำหรับสมาชิกในครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น จริงๆแล้วความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่ การที่สมาชิกในครอบครัวได้ดูแลบุคคลในครอบครัว นอกจากจะเป็นการแสดงความรักและความกตัญญูต่อกัน เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป ผู้ดูแลเองจะได้ไม่จมอยู่กับความรู้สึกผิด เพราะได้ใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยอย่างคุ้มค่าและทำดีที่สุดแล้วในขณะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือสภาพแวดล้อมภายในบ้านต้องอบอุ่นด้วยบรรยากาศแห่งความรัก ความเอาใจใส่ ลูกหลานต้องมีความเอื้ออาทรและเป็นหลักในการช่วยเหลือผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ความเครียดของผู้ดูแลก็จะบรรเทาลงได้