ผู้ป่วยติดเตียงเมื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวนานๆหรือเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้กิจกรรมส่วนใหญ่อยู่บนเตียง โรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤติ อัมพาต โรคพาร์กินสัน โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม การฟื้นตัวของสมองที่จะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองระดับไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ ลักษณะของโรค การรักษาฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม และภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น
ขอแบ่งกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้กิจกรรมส่วนใหญ่อยู่บนเตียง เป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยติดเตียงที่ได้รับความเสียหายที่สมองมากจนอยู่ในระดับการรับรู้ และการเรียนรู้เสีย ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ท้ายสุดผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มนี้จะเป็นคนพิการไปทั้งชีวิต คือ เป็นคนไข้ติดเตียงต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนไหว เช่น การขยับแขนขา การพลิกตะแคงตัว การลุกขึ้นนั่ง ญาติหรือคนดูแลต้องทำให้ทุกอย่าง และต้องค่อยจัดท่าให้ เพื่อป้องกันการนั่ง-นอนผิดท่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย
- กลุ่มที่ 2 เมื่อผู้ป่วยติดเตียงที่ได้รับการรักษาฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดไปได้ระยะหนึ่งในช่วง 6 เดือน กำลังเข่าในการเกร็งเหยียดเข่ายังอ่อนแรงไม่กลับมาในระดับปกติ ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มนี้จะมีความพิการในระดับที่ต้องพึ่งพาญาติน้อยกว่ากลุ่มแรกแต่ไม่สามารถเดินได้ถึงแม้กำลังแขนข้างอ่อนแรงจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่ก็ตาม สามารถพลิกตะแคงตัวหรือลุกนั่งเองได้ สามารถเคลื่อนย้ายตนเองจากเตียงไปกลับรถเข็นได้ในระดับที่ญาติต้องคอยช่วยเหลือบ้าง
- กลุ่มที่ 3 เมื่อผู้ป่วยติดเตียงได้รับการรักษาฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถเดินได้เองโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหรือไม่ใช้ก็ตามในระดับอย่างน้อยมีคนคอยดูแลความปลอดภัยหรือไม่ก็ได้ สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองเกือบปกติ กลุ่มนี้จะมีความพิการน้อยกว่าอีก 2 กลุ่ม
การดูแลผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม จะแตกต่างตามประเภทผู้ป่วยติดเตียง การดูแลกิจวัตรประจำวันขอแบ่งตามประเภท ดังนี้
ตารางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มที่ 1
- 5.00-6.00น.:
- ทำความสะอาดช่องปากและฟันผู้ป่วยติดเตียง
- ทำความสะอาดผิวหนังทั่วร่างกายผู้ป่วยติดเตียง เริ่มจากศีรษะจรดเท้า
- ทำแผลกดทับ(ถ้ามี) โดยจัดท่านอนผู้ป่วยตะแคงขวาหรือซ้าย ขณะทำแผลกดทับที่หลังบริเวณก้นขบ หรือตำแหน่งอื่นๆ
- 7.00น.: การจัดท่านอน จัดผู้ป่วยติดเตียงนอนราบศีรษะสูง เพื่อให้ยาก่อนอาหารทางสายยาง (กรณีมียาก่อนอาหาร ) โดยปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 8.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงตะแคงขวา การเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยติดเตียงควรทำช้าๆและนิ่มนวล
- 9.00น.: ให้อาหาผู้ป่วยติดเตียงทางสายยาง (กรณีที่มี) ปริมาณตามแพทย์สั่ง และบดยาเพื่อให้ยาหลังอาหาร 30 นาที โดยจัดผู้ป่วยศีรษะสูงและปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 10.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงตะแคงซ้าย
- 12.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยนอนราบศีรษะตรง หนุนหมอนที่ไม่เตี้ยหรือสูงมากเกินไป รองหมอนใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อย ผู้ดูแลบริหารแขนและขาให้ผู้ป่วย ควรบอกผู้ป่วยก่อนบริหารร่างกาย ขณะทำการเคลื่อนไหว ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมากควรหยุดทำ
- 13.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยตะแคงขวา ใช้ผ้าหรือหมอนบาง ๆ หนุนหรือวางใต้สะโพก ด้านอัมพาตเพื่อกันไม่ให้เชิงกรานแบออกไปด้านหลัง
- 14.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงนอนราบศีรษะสูง เพื่อให้อาหารทางสายยาง ปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 16.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงตะแคงซ้าย
- 17.00น.: ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วยทั่วร่างกาย เริ่มจากศีรษะจรดเท้า และจัดท่านอนผู้ป่วยนอนราบศีรษะตรง หนุนหมอนที่ไม่เตี้ยหรือสูงมากเกินไป รองหมอนใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อย ผู้ดูแลบริหารแขนและขาให้ผู้ป่วย การบริหารแขนและขาควรทำอย่างน้อยวันละ 2 รอบ
- 18.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยนอนราบศีรษะสูง เพื่อให้อาหารทางสายยาง ปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 20.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงตะแคงขวา
- 22.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยนอนราบศีรษะสูง เพื่อให้อาหารทางสายยาง (กรณีมีอาหารก่อนนอน) ปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 24.00น.: จัดท่านอนผู้ป่วยนอนราบศีรษะตรง หนุนหมอนที่ไม่เตี้ยหรือสูงมากเกินไป รองหมอนใต้เข่า
- 2.00น.:
- จัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงตะแคงซ้าย
- ให้ผู้ป่วยติดเตียงพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวทำความสะอาดร่างกายเช้า
ตารางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มที่ 2
- 5.00-6.00น.: ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงทำความสะอาดช่องปากและฟัน รวมทั้งทำความสะอาดทั่วร่างกาย
- 7.00น.: พาผู้ป่วยติดเตียงนั่งข้างเตียง
- 8.00-9.00น.: ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงขณะรับประทานอาหาร โดยให้ผู้ป่วยนั่งหัวสูง หรือไขเตียง 45 -90 องศา ดูแลเรื่องการสำลัก โดยผู้ดูแลไม่ควรเร่งผู้ป่วยให้รับประทานโดยเร็ว
- 10.00-11.00น.: ทานยาหลังอาหาร (กรณีถ้ามี) ดูแลทำความสะอาดปาก ฟันและลิ้นหลังรับประทานอาหาร ควรมีกิจกรรมเพิ่ม เช่น อ่านหนังสือให้ผู้ป่วยฟัง หรือดูทีวีร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้น ผู้ดูแลควรพูดคุยและรับฟังผู้ป่วย
- 12.00-13.00น.: จัดให้ผู้ป่วยติดเตียงนั่งบนเตียงหัวสูง ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงขณะรับประทานอาหาร ปรับเตียง 45 – 90 องศา
- 14.00-15.00น.
- ดูแลผู้ป่วยบริหารร่างกาย กรณีผู้ป่วยมีแรงกระตุ้นฝึกการยืนข้างเตียง ฝึกกำลังขาผู้ป่วยโดยกระตุ้นให้เตะขาสลับไปมา ขณะทำการเคลื่อนไหว ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมากควรหยุดทำ
- จัดให้ผู้ป่วยพักหลังออกกำลังกายประมาณ30-60นาที การจัดท่านั่งในเก้าอี้หรือท่านั่งห้อยขาข้างเตียง ฝึกหายใจเข้าท้องป่องหายใจออกท้องแฟบ ทำ5ครั้ง พัก ทำ2-3รอบ
- 17.00น.: ช่วยเหลือผู้ป่วยทำความสะอาดทั่วร่างกาย
- 18.00น.: ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร โดยให้ผู้ป่วยนั่งหัวสูง หรือไขเตียง 45-90 องศา
- 19.00-20.00น.: ดูแลทำความสะอาดปาก ฟันและลิ้นผู้ป่วยหลังรับประทานอาหาร
- 22.00น.: จัดท่านอนให้ผู้ป่วยสุขสบาย จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบ หรี่ไฟหัวเตียง ดูแลเรื่องความปลอดภัย เช่น ไม้กั้นเตียงยกขึ้น
- 0.00-2.00น.: ผู้ป่วยอาจต้องการลุกมาเข้าห้องน้ำ ผู้ดูแลควรจัดกริ่งเรียกหรือนอนเฝ้าอยู่ข้างเตียง
ตารางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มที่ 3
- 6.00น.: ดูแลหาอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยทำความสะอาดช่องปากและฟัน
- 8.00-9.00น.: คอยช่วยเหลือผู้ป่วยขณะเดินกลับเตียง กรณีมีอุปกรณ์ช่วยเดิน ดูแลและติดตามการใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้อง
- 9.00-10.00น.: ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร จัดอุปกรณ์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารไว้ใกล้ผู้ป่วย เช่น กระดาษเช็ดปาก แก้วน้ำ เป็นต้น
- 10.00-11.00น.: ผู้ดูแลควรพูดคุยและหากิจกรรมทำร่วมกับผู้ป่วย เช่น การอ่านหนังสือ การคิดเลขคณิต การเล่นเกม ฝึกปัญหาเชาว์ รวมถึงการฝึกใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ
- 12.00-13.00น.: จัดให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียงหัวสูง ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร ดูแลกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำความสะอาดปาก ฟันและลิ้นหลังรับประทานอาหาร
- 14.00-15.00น.:
- พาผู้ป่วยยืน เดิน ใน/นอกบ้าน หรือรำวงวันละ 1 เพลง ตามท่าทางของผู้ดูแล และกระตุ้นให้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน ขณะทำการเคลื่อนไหว ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมากควรหยุดทำ
- ดูแลผู้ป่วยพักบนเตียง
- 17.00-18.00น.: ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร
- 20.00น.: ดูแลกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำความสะอาดปาก ฟันและลิ้นหลังรับประทานอาหาร
- 22.00-5.00น.: จัดท่านอนให้ผู้ป่วยสุขสบาย จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบ หรี่ไฟหัวเตียง
สิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลต้องตระหนักคือ การพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง (กลุ่มที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน) เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดแผลกดทับ และหากเป็นไปได้ควรหาที่นอนที่ช่วยป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ เพื่อลดโอกาสในการเกิดแผลกดทับ และเพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกสบายขึ้น จากการได้พักผ่อนบนที่นอนที่เหมาะสม นอกเหนือจากเรื่องการพลิกตัวและการเลือกที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว การปรับเตียง หรือหนุนหมอนให้ผู้ป่วยนั่ง 45 – 90 องศา เป็นเรื่องสำคัญที่ควรตระหนัก เพื่อป้องกันการเกิดการสำลักของผู้ป่วย
หวังว่าตารางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยผู้ดูแลในการวางแผนในแต่ละวันได้ ผู้ดูแลอาจปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงที่ตนเองดูแลตามประเภทผู้ป่วยติดเตียง และอาจเสริมกิจกรรม งานอดิเรกที่ผู้ป่วยติดเตียงสนใจไปในระหว่างวัน เพื่อทำให้ผู้ป่วยติดเตียงได้ผ่อนคลาย