ตัวช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้เป็นแผลกดทับ และหลักการในการเลือกอุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับ

ผู้ดูแลมักมองหาตัวช่วยในการดูแลป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากแผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากสภาวะการเจ็บป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวหรือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง แผลกดทับเป็นการแตกทำลายของผิวหนังและเนื้อเยื่อจากการได้รับแรงกดอยู่เป็นเวลานาน รวมทั้งมีแรงเฉือนและแรงเสียดทานที่กระทำต่อผิวหนังจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและการตายของเนื้อเยื่อจากการขาดออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ  แผลกดทับจะพบเพิ่มสูงขึ้นหากผู้ดูแลไม่ให้ความสำคัญหรือขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการ ป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของแผลกดทับ และวิธีการป้องกันการเกิดแผลกดทับ  จึงเป็นเหตุให้ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีความกังวลเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียง  ว่าผู้ดูแลอาจปฏิบัติไม่ครบถ้วน  ผู้เขียนขอแนะนำตัวช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้เป็นแผลกดทับเพื่อลดความกังวลของผู้ดูแลและเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้อุปกรณ์ช่วยเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดการเกิดแผลกดทับได้  อุปกรณ์ช่วยจะกระจายแรงกดเช่นที่นอนลมทำให้เลื่อนเวลาในการเปลี่ยนท่านอนออกไปนานกว่า2 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ช่วยกระจายแรงกดทับมากมายหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่  เตียงลม ที่นอนลมกันแผลกดทับ เบาะฟองน้ำ เตียงเจล ฟูกยางพาราป้องกันแผลกดทับ หมอนเล็กไว้สำหรับป้องกันปุ่มกระดูกต่างๆ

หลักในการเลือกอุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดทับที่ดีต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ ผลิตภัณฑ์นั้นต้องสามารถรับน้ำหนักและกระจายแรงกดทับบนตัวผู้ป่วยได้ทุกอิริยาบถต้องป้องกันแรงเฉือนและแรงเสียดสีได้สามารถระบายความชื้นได้ดีช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย ทำให้ลดเวลาในการให้การพยาบาลข้างเตียงและลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ เป็นต้น อุปกรณ์ที่ช่วยกระจายแรงกดทับ จำแนกได้2แบบ

  1. แบบที่1 อุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดชนิดแบบอยู่กับที่ (Static pressure) เช่นที่นอนที่ทำจาก เส้นใย  เจลโฟม ลม และน้ำ ขนแกะ หรือ หมอน เป็นต้นการทำงานจะเป็นลักษณะกระจายแรงกดเฉพาะที่พื้นผิวสัมผัสร่างกาย
  2. แบบที่2 อุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดทับชนิดแบบเคลื่อนที่ได้หรือสลับไปมา (Alternating pressure) เช่นที่นอนลมแบบระบบท่อลมทำงานโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนของลม เกิดการยุบและพองตัว ที่นอนประเภทนี้สามารถกระจายแรงกดทับที่เกิดขึ้นกับทุกส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับที่นอน  นอกจากนี้ยังมีที่นอนลมแบบที่มีระบบพ่นลมจากรูเล็กๆออกมาบนพื้นผิวของท่อลม (Low air loss) ซึ่งจะช่วยระบายความอับชื้นส่งเสริมการรักษาแผลกดทับที่เกิดขึ้นได้

ผู้เขียนขอกล่าวถึงที่นอนกันแผลกดทับทั่วๆไป แบ่งออกเป็น 2 แบบ

1.เตียงลม หรือที่นอนลม  แบ่งเป็นสองประเภทที่นิยมใช้กัน

  • ที่นอนลมแบบลอนขวาง: สามารถลดแรงกดทับได้ดีกว่า ลดโอกาสที่แผลจะสัมผัสกับผิวเตียงเป็นเวลานานๆ โดยใช้พลังงานปั๊มลมไฟฟ้าในการทำให้เตียงขยับตามช่วงเวลา
  • ที่นอนลมแบบรังผึ้ง: ที่นอนลมแบบรังผึ้ง มีลักษณะเหมือนบับเบิ้ล สามารถยุบสลับกันไปมาบนเตียง

2.ที่นอนยางพารา  ด้วยเนื้อยางพาราเป็นเนื้อที่มีความหนาแน่น พร้อมทั้งมีรูระบายอากาศทั่วทั้งแผ่น นอกจากจะไม่แข็งจนทำให้เกิดแรงกดทับที่มากแล้ว ยังช่วยระบายความร้อน และยืดหยุ่นรองรับน้ำหนักของผู้ป่วยได้ดีที่สุด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตลอดทั้งวันรองรับน้ำหนักตัวได้ดี

ที่นอนยางพาราเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ช่วยลดการกดทับของน้ำหนักตัว อันเป็นสาเหตุของการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะไหล่ หลัง สะโพก ทำให้นอนหลับสบาย หลับสนิท ตลอดการพักผ่อน  ประการสำคัญเวลาที่คนสูงอายุนั่งหรือนอนลงไป จะทำให้เกิดแรงต้านจากชิ้นโฟมยางพารา จึงเสมือนเป็นการนวดตัว ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากอาการปวดเมื่อย เนื่องจากที่นอนทั่วไปจะทำให้เกิดแรงกดที่นุ่มยวบ จึงทำให้รู้สึกปวดเมื่อยเวลาใช้งาน ซึ่งที่นอนยางพาราเหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยนอนติดเตียง และผ่าตัดกระดูกสันหลังจากการที่กระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้รู้สึกปวดเมื่อยหลัง หรือผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บเกี่ยวกับไขสันหลังต้องอยู่ในท่าที่ไม่เคลื่อนไหว  ตลอดจนวัยทำงานที่รักสุขภาพ

อย่างไรก็ดีการป้องกันการเกิดแผลกดทับยังจัดเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาแผลกดทับที่เกิดขึ้น  ผู้ดูแลสามารถให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ดังนึ้

 

แนวทางการป้องกันการเกิดแผลกดทับ

  1. พลิกตัวทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดระยะเวลาของแรงกดบนกระดูก โดยเฉพาะที่มีรอยแดงเพราะจะทำให้การไหลเวียนลดลงเกิดแผลกดทับได้ง่าย โดยการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างระมันระวัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ระหว่างพลิกตัว การจัดท่านอนโดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งหงาย 30 องศา ข้างซ้ายหรือข้างขวาเพื่อป้องกันกระดูกก้นกบและสันกระดุกสะโพกถูกกดแล้วใช้หมอนรองหลังไว้ ใช้หมอนรองขาให้ส้นเท้าลอยจากพื้น
  2. ตรวจดูผิวหนังที่มีแรงกดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการนวดปุ่มกระดูกโดยเฉพาะที่มีรอยแดงเพราะจะทำให้การไหลเวียนเลือดลดลงเกิดแผลได้ง่าย ระวังไม่ให้ผิวหนังเปียกชื้น และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังแห้ง ถ้าผิวหนังแห้งควรงดใช้สบู่ ควรทาโลชั่น

3 . การจัดท่านั่งควรจัดให้ผู้ป่วยนั่งโดยจัดให้บริเวณข้อเท้า ข้อศอก ปลายแขนและข้อมือมีหมอนรองรับอยู่ในท่าที่ปกติ การนั่งบนรถเข็ญควรเปลี่ยนท่าทุก 15 นาที ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถยกตัวเองหรือเปลี่ยนท่าเองได้ ควรนั่งไม่เกิน 1 ชั่วโมงและให้ผู้ป่วยนอนเตียง

  1. ดูแลให้ผ้าปูที่นอนเรียบดึงอยู่เสมอ
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ห่วงวงกลมวางบริเวณปุ่มกระดูกเพราะจะไปเพิ่มแรงกดต่อผิวหนังบริเวณที่กดอยู่กับห่วง

6 .ไม่ลากหรือดึงผู้ป่วยขณะเครื่องย้ายหรือเปลี่ยนท่า ให้ใช้วิธีการยกแทนการดึง

ขอสรุปว่าอุปกรณ์ต่างๆที่ช่วยลดแรงกดการเกิดแผลกดทับได้แก่ เตียงลม เบาะฟองน้ำ เตียงเจล หมอนเล็กไว้สำหรับป้องกันปุ่มกระดูกต่างๆ วาสลีน โลชั่น อุปกรณ์เหล่านี้ผู้ดูแลควรเตรียมให้เพียงพอให้พร้อมก่อนการปฏิบัติจริง  การผู้ดูแลมีความรู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและสามารถป้องกันการเกิดแผลกดทับ ทำให้ผู้ดูแลคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงไปได้  และผู้ดูแลสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงได้  และสิ่งสำคัญจะเกิดการป้องกันการเกิดแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ