ทำอย่างไรหากผู้ติดเตียงไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพ

การกายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียงสำคัญอย่างไร กายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียง เป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ เช่น ข้อ กล้ามเนื้อ หรือทำเพื่อผ่อนคลาย ผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียง มักมีปัญหาสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกาย จากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีจนอาจจะทำให้เกิดแผลกดทับ และจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียงจะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากผู้ดูแลและฝึกตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ  เพราะหากไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ย่อมเกิดผลเสียตามมา แม้แต่คนทั่วไปเอง เมื่อไม่ได้ออกกำลังกายหรือไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อย ๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะเริ่มตามมา ทั้งการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญหรือขับถ่ายไม่ดี ภาวะเหล่านี้ก็จะยิ่งนำพาโรคแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ มาอีก ฉะนั้นในผู้ป่วยติดเตียง ย่อมมีความรุนแรงและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่า

ผู้ป่วยติดเตียงมักจะมีความกังวลเกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกาย การมีข้อจำกัดในการดูแลตนเองและข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยติดเตียงที่ทำได้น้อยลง ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่ไม่สามารถทำเองได้ ความพิการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงโดยฉับพลันส่งผลกระทบด้านจิตใจ ได้แก่ ความวิตกกังวล ท้อแท้ หมดหวังเบื่อหน่าย รู้สึกไม่มั่นคง ขาดความเชื่อมั่น มองตนเองและโลกในแง่ร้าย เห็นคุณค่าตนเองน้อยลงหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงการไม่ร่วมมือรักษาทางกายภาพบำบัดร่างกาย

ผู้ป่วยติดเตียงมักจะเคลื่อนไหวได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อร่างกายอยู่ในท่าเดิมนานๆจะทำให้ข้อติดไม่สามารถเหยียดข้อออกได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะแก้ไขได้ยาก  เมื่อทิ้งไว้นานจะพบว่าเมื่อผู้ดูแลเพยายามเหยียดแขนหรือขาเป็นการบริหารจะพบผู้ป่วยไม่ให้ร่วมมือ อาจเกิดจากผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ หรืออาจจะปวดบริเวณนั้นได้ การที่ผู้ดูแลเข้าใจในเรื่องความรู้สึก ความต้องการของผู้ป่วยติดเตียงจึงมีความสำคัญมาก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงเมื่อผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพ

1.เกิดการยึดติดของข้อต่อ การทำกายภาพจะช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อต่าง ๆ ไม่ให้ติดจนเคลื่อนไหวไม่ได้

2. กำลังกล้ามเนื้อลดลงจากการที่ไม่ได้ใช้งานมานาน การทำกายภาพจะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในผู้ป่วยพอมีแรง

3.เกิดแผลกดทับ เนื่องจากหากผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ผิวหนังบริเวณที่รับแรงกดจากน้ำหนักตัวจะเป็นแผลกดทับได้ ระยะแรกจะสังเกตได้ว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นรอยแดงช้ำ หากทิ้งไว้แผลจะลึกและกว้างขึ้น

4.ประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจและปอดลดลง ผู้ป่วยจะหายใจตื้นกว่าปกติทำให้ปอดไม่ขยาย และเกิดภาวะปอดแฟบ การทำกายภาพแก่ผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยผู้ป่วยหายใจลึกขึ้นปอดจะขยาย

ข้อแนะนำก่อนทำกายภาพการที่จะให้ผู้ป่วยติดเตียงร่วมมือในการทำกายภาพ ดังนี้

1.เน้นการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยติดเตียง

2.ผู้ดูแลควรสร้างความคุ้นเคยทำให้ผู้ป่วยเชื่อและไว้วางใจ

3.ก่อนทำกายภาพผู้ดูแลควรบอกว่าจะทำกายภาพอะไรบ้าง เช่นประโยค

” วันนี้จะทำกายภาพโดยเหยียดแขนและยกขาสลับกันนะคะ จะประคองไปด้วยคะไม่ต้องกลัวนะ” เป็นต้น

4.ขณะทำกายภาพพบว่าผู้ป่วยออกแรงมากขึ้นและให้ความร่วมมือดี  ผู้ดูแลควรให้กำลังใจด้วยการชมผู้ป่วย เช่นประโยค

“วันนี้เก่งมากเลยคะ” ผู้ดูแลชมพร้อมกับส่งยิ้มให้ผู้ป่วย การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ดูแลควรหมั่นชื่นชม หรือให้ผู้ร่วมกายภาพร่วมกันปรบมือ ส่งเสียงชื่นชม ผู้ป่วยติดเตียงจะมีกำลังใจมากขึ้น

5.ขณะทำกายภาพผู้ดูแลควรจะค่อยๆทำกายภาพ ไม่ต้องรีบ ทำไปตามจังหวะของการร่วมมือของผู้ป่วย และหมั่นคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยติดเตียงด้วย ถ้าพบผู้ป่วยติดเตียงไม่ไหวออกแรงช่วยไม่ได้ ผู้ดูแลควรช่วยประคองไปด้วยหรือหยุดพัก

6.ผู้ดูแลให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของผู้ป่วย โดยสังเกตจากใบหน้า เสียงร้องของผู้ป่วยว่าเกิดการเจ็บปวดขณะทำกายภาพไหม เมื่อผู้ดูแลพบว่าผู้ป่วยเจ็บตรงตำแหน่งที่กายภาพ ผู้ดูแลควรหยุดทำและรอจนอาการดีขึ้น

7.ผู้ดูแลต้องบอกความสำคัญการทำกายภาพให้ผู้ป่วยฟัง ว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาคือข้อยึดติด กล้ามเนื้อลีบ และจะมีอาการปวดตามมา

กล่าวโดยสรุปการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียง มีประโยชน์และสำคัญมาก คือช่วยป้องกันการหดสั้นของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ป้องกันการยึดติดของข้อต่อและยังป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจด้วยคือผู้ป่วยจะหายใจลึกขึ้น ปอดจะขยายขึ้น การที่ผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายได้ ดังนั้นการทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการทำกายภาพจึงมีความสำคัญ ผู้ดูแลควรหมั่นพูดถึงประโยชน์ในการทำกายภาพ ว่าข้อต่อจะไม่ยึดติดและผู้ป่วยจะผ่อนคลายลดการปวดได้ และที่สำคัญการให้กำลังใจด้วยการชมขณะทำกายภาพ ขอแนะนำผู้ดูแลขณะทำกายภาพควรประคองแขนหรือขาของผู้ป่วยติดเตียงเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญแก่ผู้ป่วย ไม่ทอดทิ้ง ผู้ดูแลควรทำกายภาพให้ผู้ป่วยติดเตียง ทุกวัน เช้า-เย็น เป็นอย่างน้อย