ข้อควรระวังเวลาป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียง มีอะไรบ้าง ผู้สูงอายุติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวและช่วยเหลือตนเองได้ มีความต้องการช่วยเหลือทางด้านกิจวัตรประจำวันทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ด้วยตนเอง และรับประทานอาหารทางปากไม่ได้ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องได้รับอาหารทางสายยาง ประกอบกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มนี้มักมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย และการนอนติดเตียงทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ส่งผลให้การสังเคราะห์โปรตีนล้มเหลว ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัสต่างๆ เนื้อเยื่อขาดความตึงตัว กระดูกบางลง มีการสลายกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
การป้อนอาหาร ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้ เพราะการกิน ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการใช้ชีวิตด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่มักใช้ชีวิตอยู่บนเตียง หรือรถเข็นตลอดทั้งวัน การได้นั่งโต๊ะอาหารและร่วมกินอาหารกับคนในครอบครัวช่วยให้ผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงกินอาหารได้ดีขึ้น วิธีเรียนรู้การป้อนอาหารที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ครบถ้วนตามความต้องการ รวมถึงความสุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เพียงแค่รับประทานได้ปริมาณมาก ๆ เท่านั้น
ขอแนะนำวิธีการป้อนอาหารให้ ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง
- ควรอาบน้ำหรือเช็ดตัว และล้างหรือบ้วนปากของผู้ป่วยติดเตียงก่อนการป้อนอาหารทุกครั้ง
- ควรยกศีรษะผู้ป่วยติดเตียงให้สูง (โดยไขหัวเตียงให้สูง) ด้วยว่าการยกศีรษะสูงขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้สะดวกและป้องกันไม่ให้สำลักอาหาร
- เตรียมผ้ากันเปื้อนหรือกระดาษเช็ดหน้าบนหน้าอกของผู้ป่วยติดเตียง เพราะอาจมีอาหารหกเปื้อนได้
- การป้อนอาหารให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ควรให้ครั้งละน้อยๆ พอดีคำ และต้องไม่คลุกอาหารหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน
- ควรเว้นระยะการป้อนให้ผู้ป่วยติดเตียง ได้มีเวลาเคี้ยวอย่างสบาย ระหว่างคำอาจมีการพูดคุยบ้างในเรื่องที่เพลิดเพลิน หรือกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร
- เมื่ออิ่มแล้ว ต้องให้ผู้ป่วยติดเตียง รับประทานน้ำทุกครั้ง
- หลังจากผู้ป่วยติดเตียงทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ควรทำความสะอาดปาก และฟันผู้ป่วยติดเตียง โดยการบ้วนปาก เช็ดปาก และแปรงฟัน
- ให้ผู้ป่วยติดเตียงนอนศีรษะสูงอยู่ประมาณครึ่งถึง 1 ชั่วโมงหลังอาหาร เพื่อช่วยในการย่อยอาหารในผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้น
ข้อควรระวังเวลาป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียง ข้อควรระวังขณะป้อนอาหาร
- ผู้ดูแลต้องนั่งข้างๆ ตัวผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยติดเตียง แล้วคอยช่วยป้อนอาหารและช่วยในเรื่องอื่นๆ บนโต๊ะอาหาร ซึ่งผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนบนหรือโรคสมองเสื่อมจะกินอาหารด้วยตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลจึงต้องป้อนอาหารให้ โดยเริ่มจากนั่งข้างๆ ตัวผู้ป่วยและกินอาหารไปด้วยกัน พร้อมกับคอยสังเกตจังหวะการกินของอีกฝ่ายและคอยดูแลจนเสร็จสิ้น
- จัดสำรับอาหารเหมือนทำให้รู้ลำดับในการป้อนและผู้ดูแลสามารถจัดการให้ผู้ป่วยติดเตียงกินได้ครบ
- ท่าทางที่เหมาะสมกับการกินอาหารคือ การโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้กลืนได้สะดวก หากเงยหน้าเคี้ยวอาหารอาจสำลักหรือกลืนลำบาก ดังนั้น เวลาป้อนอาหารให้ผู้สูงอายุควรถือช้อนให้ต่ำกว่าปากเล็กน้อย
- สำหรับการป้อนอาหารให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ดูแลควรนั่งข้างที่ร่างกายเป็นปกติ
- ให้ผู้ป่วยตะแคงมาด้านที่เป็นอัมพาต สอดหมอน หรือผ้าขนหนูม้วนเป็นก้อนไว้ใต้ศีรษะให้สูงขึ้น เพื่อกลืนได้สะดวก
ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การดูแลป้อนอาหาร ดังนี้
- จัดทำให้นั่งตัวตรงลําตัวและศีรษะอยู่ในแนวกลางลําตัวก้มหน้าลงให้คางชิดอก (Chin tuck) เพื่อช่วยลดการเปิดกล่องเสียงทําให้อาหารไม่ตกเข้าไปในช่องทางเดินหายใจและป้องกันการสําลัก
- ไม่เร่งให้ผู้ป่วยติดเตียงเคี้ยวและกลืนกรณีผู้ป่วยใช้เวลาในการรับประทานอาหารนานกว่า 45 ถึง 60 นาทีผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงสําลักได้เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวและกลืนอ่อนแรงควรแบ่งมื้ออาหารเพิ่มขึ้น
- เฝ้าระวังการสําลักและความผิดปกติระหว่างการรับประทานอาหาร
- ดูดเสมหะก่อนการให้อาหาร สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถไอเอาเสมหะออกได้เอง ผู้ดูแลต้องจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ลําตัวและศีรษะอยู่ในแนวกลางลําตัว หรือยกระดับเตียงให้ศีรษะสูงมากกว่า 30 องศา
- ทําความสะอาดช่องปากผู้ป่วยติดเตียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนให้อาหารหลังให้อาหารและก่อนนอนโดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าตะแคงกึ่งนั่งและทําการแปรงฟันเหงือกลิ้นเพดานปากและเยื่อบุกระพุ้งแก้ม
- หลังให้อาหารเสร็จจัดผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่าศีรษะสูงมากกว่า 30 องศาเป็นเวลา 45-60 นาทีเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือการสําลัก
- การป้อนอาหารบนเตียง ในท่านอนตะแคง ให้ผู้ป่วยติดเตียงตะแคงมาด้านที่เป็นอัมพาต สอดหมอน หรือผ้าขนหนูม้วนเป็นก้อนไว้ใต้ศีรษะให้สูงขึ้น เพื่อกลืนได้สะดวก
- ท่านอนหงาย ปรับหัวเตียงเพื่อยกลำตัวท่อนบนขึ้น แล้วสอดหมอนไว้ใต้ศีรษะเพื่อให้คางกดลง
กล่าวโดยสรุป การดูแลป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลที่จะป้อนอาหารควรล้างมือและเช็ดมือให้สะอาด และช่วยทำความสะอาดปากและ ฟันให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ควรฝึกทักษะให้ญาติ/ผู้ดูแลเกี่ยวกับ การจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง และเลือกอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนเช่น อาหารข้นไปหรือไม่ การจัดท่าศีรษะสูงอย่างน้อย 30 องศา การจัดสิ่งแวดล้อมบนโต๊ะอาหารให้น่ารับประทาน เทคนิคการให้อาหารที่เหมาะสมเช่น การให้อาหารทางสายยางอย่างช้าๆ การจัดการกับการสําลัก การใช้เทคนิคกระตุ้นการกลืน การช่วย เหลือสนับสนุนการปฏิบัติของญาติให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง