มาเรียนรู้วิธีปฎิบัติอย่างง่ายๆ เพื่อช่วยลดความเครียดให้กับผู้ป่วยติดเตียง เพราะ “ความเครียด” คือภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ และทําให้รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ มีความกลัว อาการวิตกกังวล ทําให้เกิดการถูกบีบคั้น ประสบปัญหากระทบต่อด้านจิตใจจนเกิดอันตรายแก่ร่างกายตามมา ความเครียดทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง ผลต่อความเครียด ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านร่างกาย ภาวะเครียดที่เกิดขึ้น จะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทําให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลม เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน โรคอ้วน แผลในกระเพาะอาหาร เมื่อบุคคลตกอยู่ในความเครียดเป็นเวลานาน จะทําให้สุขภาพร่างกายแย่ลงเนื่องจากความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมน
- ด้านจิตใจและอารมณ์ จิตใจของบุคคลที่เครียดจะเต็มไปด้วยการหมกมุ่นครุ่นคิด ไม่สนใจสิ่งรอบตัวใจลอยขาดสมาธิ จิตใจขุ่นมัว โมโหโกรธง่าย
- ด้านพฤติกรรม นอกจากพบการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่กล่าวมาข้างต้น ระบบการทํางานของร่างกายเพี้ยนไปด้วย แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น บุคคลที่เครียดมากๆ บางคนเบื่ออาหาร
วิธีปฏิบัติเพื่อลดอาการเครียด วิธีที่ผู้เขียนจะนําเสนอในที่นี้จะเป็นวิธีง่ายๆ เหมาะสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
1.การฝึกการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณหน้าท้องแทนการหายใจ
(เหมาะกับผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถให้ความร่วมมือได้) โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก เมื่อหายใจเข้า หน้าท้องจะพองออก และเมื่อหายใจออก หน้าท้องจะยุบลง กลั้นไว้ชั่วครู่แล้วจึงหายใจออก ลองฝึกเป็นประจําทุกวัน จนสามารถทําได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทําให้สมองแจ่มใส ร่างกายสดชื่นและกระตือรือร้นพร้อมเสมอสําหรับภารกิจต่างๆ ในแต่ละวัน
2. ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย การนวดกดจุดฝ่าเท้า
เป็นวิธีการกดนวด กดจุดฝ่าเท้ารวมทั้งหลังเท้าและข้อเท้า ซึ่งเป็นตัวแทนอวัยวะในร่างกายเพื่อให้มีผลเกิดแก่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล แก้ไขภาวะความไม่สมดุลเพื่อทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตภายหลังการนวดกดจุดฝ่าเท้าจะส่งผลให้ร่างกายผ่อนคลายความตึงเครียดและการเกร็งตัวของระบบกล้ามเนื้อ นอกเหนือจากการนวดกดจุดฝ่าเท้าแล้ว การให้ผู้ป่วยติดเตียงทำกายบริหารอย่างง่ายๆ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย ยังช่วยบำบัดสภาพจิตใจให้ผู้ป่วยได้
3. การสัมผัส
นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยในการบำบัดความเครียดที่ได้ผลยิ่งกว่ายาคลายเครียด เนื่องจากจะช่วยผลิตสารอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความเครียด สร้างความสุข และเพิ่มความอบอุ่นให้กับตัวผู้ให้และผู้รับได้มากเป็นพิเศษ วิธีการสัมผัสด้วยการกอดเปรียบเสมือนเป็นยาทางใจที่ทำให้ร่างกายและจิตใจมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ง่ายๆ โดยวิธีการกอดนั้นๆจะให้ผู้ที่ได้รับจะรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่นและปลอดภัยเป็นอย่างมาก อ้อมกอดจากคนรัก จะช่วยทำให้อาการเครียดที่มีดูเบาบางลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
4. การใช้เทคนิคความเงียบ
การจะลดความวุ่นวายของจิตใจที่ได้ผล ต้องอาศัยเวลาและความเงียบช่วย โดยมีวิธีการดังนี้ ผู้ดูแลควรเลือกสถานที่ที่สงบเงียบ มีความเป็นส่วนตัว และควรบอกผู้ใกล้ชิดว่าอย่ารบกวนสัก 15 นาที เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังตื่นนอน เวลาพักกลางวัน ก่อนเข้านอน ฯลฯ นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ถ้านั่ง
ควรจัดให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่าที่สบายผ่อนคลาย แนะนำให้ผู้ป่วยติดเตียงหลับตา เพื่อตัดสิ่งรบกวนจากภายนอก ผู้ดูแลบอกให้ผู้ป่วยติดเตียงหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ทําใจให้เป็นสมาธิ โดยท่องคาถาบทสั้นๆ ซ้ำไปซ้ำมา เช่น พุทโธ หรือสวดมนต์ เช่น สวดพระคาถาชินบัญชร 3-5 จบ เป็นต้น ฝึกครั้งละ 10-15 นาที ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนบรรยากาศรอบตัวให้มีสมาธิและผ่อนคลายจากความเครียดได้
5. การคิดบวก
เนื่องจากสภาวะทางร่างกายที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงหลายรายมีอารมณ์ที่ผันแปร และหดหู่ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจ และหาทางรับมือกับอารณ์ที่แปรเปลี่ยนนี้ โดยผู้ดูแลสามารถพูดคุยกับผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอ มีปัญหาเล่าสู่กันฟัง สร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว การคิดบวกช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ การคิดบวกทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ดูดซึมอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เผาผลาญได้อย่างเป็นปกติ ร่าเริงแจ่มใส ไม่ป่วยง่าย และไม่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ การคิดบวกส่งผลดีต่อสุขภาพจิต มีทักษะแก้ปัญหาได้ดีกว่าคนที่ชอบคิดในแง่ลบ ช่วยป้องกันตนเองจากภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี มีพลังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ความคิดในแง่ลบเป็นสิ่งที่ดูดพลังชีวิต ทำให้ไม่มีความสุข ทางตรงกันข้ามคนที่คิดบวกอยู่เสมอจะมีความสุขได้ง่ายขึ้นและประสบความสำเร็จ
คำคมที่ขอฝากไว้ “ระวังความคิด เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ ระวังการกระทำ เพราะผลรวมของการกระทำจะกลายเป็นนิสัย ระวังนิสัย เพราะนิสัยคือบุคคลิกและตัวตน ระวังตัวตน เพราะตัวตนจะนำไปสู่ชะตากรรมของชีวิต คิดสิ่งใด ย่อมเป็นเช่นนั้น”
6. อาหารที่มีประโยชน์
การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกวิตามินบีที่ได้มาจากเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา สัตว์ปีก ธัญพืชไม่ขัดขาว ไข่ ถั่ว นม พืชตระกูลถั่ว และผักใบเขียว ที่จะช่วยรักษาระดับพลังงานที่สูญเสียไปจากอาการเครียด ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นและรู้สึกได้ว่ามีอาการอ่อนเพลียน้อยลงนอกจากนี้ การเติมวิตามินซี แมกนีเซียมและโพแทสเซียมให้กับร่างกายจากการรับประทานอาหารก็ช่วยลดอาการเครียด ลดความเศร้าหมอง และทำให้อารมณ์ดีได้มากขึ้นอีกด้วย เห็นแล้วใช่มั้ยว่า แค่เลือกรับประทานอาหารที่ใช่ ก็สามารถทำให้ร่างกายสดชื่นและลดความเครียดได้โดยไม่ต้องพึ่งยาคลายเครียด
วิธีคลายเครียดนั้นมีมากมายหลายวิธี แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของการบำบัดให้ผู้ป่วยติดเตียงหายจากโรคเครียดหรือการเบื่อหน่ายนี้ได้คือ การยอมรับและคิดบวกเสมอ และไม่ควรเลือกใช้ยาคลายเครียดเป็นทางลัดในการแก้ปัญหา เพราะการใช้ยาคลายเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดการดื้อยา ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อร่างกายของเรา ขอฝากไว้ “การคิดบวกย่อมเกิดสุขภายในใจเสมอ”