วิธีการเลือกเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

“เตียง” คือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการนอนหลับที่มีคุณภาพ สำหรับผู้สูงอายุรวมถึงผู้ป่วยซึ่งร่างกายไม่ได้แข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ เตียงคนไข้เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นเตียงที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ  โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้เตียงประเภทนี้มักจะเป็นผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคที่จำเป็นต้องพักฟื้นบนเตียงนานๆ เพราะหากเลือกนอนเตียงธรรมดา อาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายนัก และอาจก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้  ดังนั้นการเลือกเตียงให้ผู้ป่วยติดเตียงจึงมีความสำคัญยิ่ง  ผู้ดูแลควรเลือกเตียงผู้ป่วยมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลเองและป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดแก่ผู้ป่วยติดเตียง

ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของเตียงผู้ป่วย มีดังนี้ 

1.มีขนาดไม่ต่ำกว่า 90×200 เซนติเมตร

2.มีความสูงจากพื้นถึงพื้นเตียง 25-40 เซนติเมตร

3.ความสูงของราวกั้นเตียงเมื่อวัดจากฟูก ไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร

4.วัสดุที่ใช้ผลิตมีความแข็งแรง ไร้สนิม ง่ายต่อการทำความสะอาด

5.ระบุน้ำหนักสูงสุดที่เตียงสามารถรับได้ (Safe working load)

ขอนำเสนอความรู้ในการการเลือกเตียงผู้ป่วยได้ด้วยตนเอง

  1. เตียงทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ไม่เป็นสนิมได้ง่าย สามารถรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 150 Kg เป็นต้นไป (เพราะยิ่งรับน้ำหนักได้มาก = มีความแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน)
  2. งบประมาณ การที่จะได้เตียงผู้ป่วยที่ดีมีฟังก์ชั่นที่มาก ต้องใช้งบประมาณที่สูงตามไปด้วย
  3. การเคลื่อนย้าย ควรเลือกเตียงผู้ป่วยที่มีล้อ จะได้ทำให้ผู้ดูแลสะดวกในการเคลื่อนย้ายมากขึ้น
  4. ความยาวของเตียงโดยทั่วไป จะอยู่ที่ประมาณ 180 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความยาวที่พอเหมาะ
  5. ความสูงของเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ดีนั้น ควรสูงจากพื้นประมาณ 40 เซนติเมตร หรือมีความสูงประมาณข้อพับเข่าของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เมื่อเวลาลุกขึ้นนั่ง เพื่อที่จะยืน หรือทำกิจกรรมใดๆ จะได้วางเท้าถึงพื้นพอดี
  6. ความสวยงามก็เป็นสิ่งสำคัญ เตียงที่มีความสวยงามจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่รู้สึกหดหู่
  7. ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้องมีใบจดทะเบียนสถานประกอบการผลิต หรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (อย.)
  8. โรงงานผู้ผลิตได้รับมาตรฐานการผลิตจาก อย. หรือมาตรฐาน ISO 13485 (มาตรฐานคุณภาพการผลิตเครื่องมือแพทย์)
  9. มีมาตรฐาน IEC 60601-2-38 (มาตรฐานเตียงผู้ป่วย) หรือ IEC 60601-2-52 (มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้งาน)

เตียงผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในท้องตลาดมีหลากหลาย ซึ่งคุณสมบัติของเตียงผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุนั้นก็มีความแตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ดูแลควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย และผู้ดูแลได้อย่างเต็มที่ เตียงผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ สามารถแบ่งประเภทได้หลายแบบ

1.เตียงแบ่งประเภทตามการควบคุม จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.1.เตียงผู้ป่วยมือหมุน     เตียงที่ควบคุมการปรับท่าต่าง ๆ ด้วยเพลาแบบมือหมุนซึ่งจะมีจำนวนเพลาบริเวณปลายเตียงตามจำนวนท่าของเตียงที่ปรับได้

ข้อดี : ราคาไม่สูง ไม่ใช้ไฟฟ้า น้ำหนักเบา

ข้อเสีย : ใช้มือหมุนในการปรับระดับ ผู้ดูแลต้องก้มบ่อยอาจจะส่งผลเสียกับสุขภาพในระยะยาวและผู้ป่วยไม่สามารถปรับเตียงได้ด้วยตนเอง

1.2.เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า ที่ปรับท่าต่าง ๆ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและควบคุมการปรับท่าผ่านรีโมทคอนโทรล หรือแผงควบคุม

ข้อดี : ลดภาระของผู้ดูแล ผู้ป่วยสามารถปรับเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าได้ด้วยด้วยตนเอง ช่วยเสริมให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง อำนวยความสะดวกในการใช้งานทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแล

ข้อเสีย : ราคาสูง และใช้ไฟฟ้าในการทำงาน

2.เตียงแบ่งประเภทตามความสามารถในการปรับท่าทาง เตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับท่าทางต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต จึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และยังช่วยเสริมความภาคภูมิใจ ในการช่วยเหลือตนเองได้อีกด้วย  จะถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภท

1 ไกร์ : ปรับพนักพิงหลัง

2 ไกร์ : ปรับพนักพิงหลัง และท่าชันเข่า

3 ไกร์ : ปรับพนักพิงหลัง ท่าชันเข่า และระดับความสูง – ต่ำของเตียง

4 ไกร์ : ปรับพนักพิงหลัง ท่าชันเข่า ระดับความสูง – ต่ำของเตียง และท่าหัวสูง – เท้าต่ำ

5 ไกร์ : ปรับพนักพิงหลัง ท่าชันเข่า ระดับความสูง – ต่ำของเตียง ท่าหัวสูง – เท้าต่ำ และท่าหัวต่ำ – เท้าสูง

ทั้งนี้ จำนวนไกร์ = จำนวนท่าที่ปรับได้ แต่ท่าทางที่ปรับได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต เช่น เตียงผู้ป่วย ประเภท 2 ไกร์ อาจจะปรับได้ในส่วนของท่าสูง – ต่ำ และพนักพิงหลัง

ความปลอดภัยในการใช้งาน นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการใช้งานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อสังเกตคือ ความปลอดภัยในการใช้งานของเตียงผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจะต้องมีความแข็งแรง ความมั่นคงและที่สำคัญคือราวสไลด์ หรือราวกันตกซึ่งก็มีทั้งแบบธรรมดาและแบบปีกนก ต้องดูว่าสามารถใช้งานได้สะดวกเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุหรือไม่ ผู้ป่วยบางท่านอาจต้องการรับการดูแลที่มากกว่าผู้ป่วยบางราย อาจจะต้องได้รับการนวด หรือทายา ก็จะเหมาะกับเตียงที่มีราวสไลด์แบบปีกนก เพราะสามารถพับแบบแยกส่วนได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาร่วมกับการเลือกเตียงผู้ป่วยคือ “เบาะนอน “ ในงานวิจัยได้กล่าวถึง การใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันแผลกดทับ วัตถุประสงค์คือเพื่อให้มีการลดแรงกระจายและแรงกดบริเวณพื้นผิวสัมผัสระหว่างผิวหนังของผู้ป่วยกับพื้นที่ผิวที่รองรับน้ำหนักโดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกได้แก่สะโพก  ก้นกบ สะบักหลัง ตาตุ่ม และส้นเท้า เพราะเป็นบริเวณที่รับแรงกดมาก  การกระจายของแรงกดมีน้อยเนื่องจากมีชั้นของกล้ามเนื้อและไขมันรองรับน้อย จากการทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่าการลดแรงกดเพียงเล็กน้อยโดยใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆ  รองบริเวณที่เกิดแผลกดทับ จะช่วยลดแรงกดต่อเนื้อเยื่อบริเวณปุ่มโปนกระดูก  ดังนั้นการให้ผู้ป่วยนอนบนที่นอนที่มีความนุ่มกว่าที่นอนทั่วไปจะสามารถช่วยลดแรงกระจายและแรงกดบริเวณพื้นผิวสัมผัสระหว่างผิวหนังของผู้ป่วยกับพื้นที่ผิวที่รองรับได้ดี  จึงมีการเลือกใช้ที่นอนที่มีความนุ่มที่มีคุณสมบัติหลากหลายและแตกต่างกันไปเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

กล่าวโดยสรุปการเลือกเตียงที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสุขสบายและผู้ดูแลสะดวกสบายในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น ถ้าผู้แลให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันแผลกดทับคือเบาะนอนหรือที่นอนที่มีคุณสมบัติป้องกันแผลกดทับแล้ว  จะพบว่าสำหรับผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยป้องกันแผลกดทับโดยไม่จำเป็นต้องพลิกตัวผู้ป่วยบ่อย  และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดูแลผู้ป่วยด้วยความรัก ความเอาใจใส่ หมั่นพลิกตะแคงตัวและทำความสะอาดหลังขับถ่ายจะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ดีทีเดียว