ผู้ป่วยติดเตียง ควรนอนอย่างไรให้มีความสุข

การนอนหลับเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อคงความมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และเป็นกิจกรรมประจำวันที่สำคัญสำหรับชีวิต  การนอนหลับมีความสำคัญกับบุคคลทั้งในเวลาปกติและเวลาเจ็บป่วย  เมื่อบุคคลต้องเจอภาวะเจ็บป่วยอาจต้องเจอปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ซึ่งสามารถพบได้ในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย และมีโอกาสพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกับผู้สุงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง

ความหมาย ”การนอนหลับ”  เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจได้รับการสร้างเสริมและซ่อมแซม มักอยู่ในท่านอนราบ สงบนิ่ง

เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และประสบปัญหาจากโรคประจำตัวและภาวะแทรกซ้อนทำให้ต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงมักเกิดปัญหาการนอนไม่หลับตามมา เนื่องจากขณะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจะพบในเรื่องสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ไม่คุ้นชิน เช่น ที่นอน อุณหภูมิห้อง เพื่อนผู้ป่วยข้างเตียง เสียงจากเครื่องมือต่างๆเจ้าหน้าที่หรือผู้ป่วยอื่นๆแสงที่จ้าเกินไป กิจกรรมการรักษาพยาบาล ความไม่สุขสบายจากอาการเจ็บป่วย และความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเหล่านี้

เหตุนี้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงเมื่อต้องกลับมาอยู่บ้าน ปัญหาการนอนไม่หลับจากสาเหตุดังกล่าวยังคงอยู่   เมื่อผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงนอนหลับอย่างไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ  อารมณ์และสังคม การนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียง คงไว้ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่เพียงพอได้แก่

1.ปัจจัยภายใน ได้แก่

  • พบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ
  • พบเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในเพศหญิงนั้นเกี่ยวข้องกับการหมดประจำเดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทําให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการรบกวนการนอนหลับของผู้หญิง
  • การเจ็บป่วยทำให้เกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงและตามมาด้วยอาการนอนไม่หลับ
  • ความปวด เช่น ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว ฯ
  • ความวิตกกังวล ความเครียด ได้แก่ ความวิตกกังวลเรื่องการจ็บป่วยทางด้านร่างกาย มีความเครียดว่ากลัวเป็นภาระของครอบครัว ฯ

2.ปัจจัยภายนอกได้แก่

  • เสียงรบกวน โดยเสียงที่รบกวนทําให้ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนกระทั่งหลับนานขึ้น ทําให้ตื่นกลางคืนบ่อย หลับต่อยากหลังจากตื่น และทําให้ตื่นเช้ากว่าปกติ
  • แสงสว่างในห้องที่จ้าเกินไป สายตาผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงจะมีความไวต่อแสงมาก การสัมผัสกับแสงตลอดเวลาทําให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง รู้สึกไม่สุขสบายและรบกวนการนอนหลับได้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง ส่วนใหญ่จึงชอบอยู่ในห้องที่ค่อนข้างมืดซึ่งอาจทําให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง เกิดอุบัติเหตุได้จึงควรจัดห้องนอนของผู้สูงอายุให้มีหลอดไฟสลัวๆ
  • อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปจะรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้นการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง ควรเป็นเสื้อผ้า ผ้าห่ม หมวก และถุงเท้าควรหลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ทําความร้อนด้วยไฟฟ้า เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้สูงอายุได้
  • ผู้ที่นอนร่วมห้องนอน การมีบุคคลอื่นนอนห้องเดียวกันกับผู้สูงอายุ ได้แก่สามี ภรรยา บุตร หลาน หรือผู้ดูแล เป็นต้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงได้ การรบกวนอาจเกิดจากการเคลื่อนไหว การนอนกรน การละเมอหรือนอนกัดฟัน ของบุคคลที่นอนร่วมห้อง สามารถรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงได้
  • ลักษณะของที่นอนที่นิ่มหรือแข็งเกินไป หรือที่นอนที่ไม่เหมาะไม่ป้องกันแผลกดทับ ซึ่งอาจะทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงเจ็บปวดจากการเกิดแผลกดทับได้
  • การเข้านอนไม่เป็นเวลา ฯ

วิธีการที่ผู้ดูแลควรรู้เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงให้มีการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีความสุข คือ

  • ผู้ดูแลควรเข้าใจและยอมรับเรื่องสภาวะที่เกี่ยวข้องการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง
  • ผู้ดูแลควรจัดเวลาการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา การฝึกตื่นนอนและเข้านอนให้เป็นเวลาจะทําให้ผู้สูงอายุตื่นนอนและง่วงนอนเมื่อถึงเวลา
  • ผู้ดูแลควรดูแลร่างกายแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง โดยทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น การอาบน้ำอุ่นหรือแช่ตัวในน้ำอุ่น และการอ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงฟัง  หรือเปิดเพลงเบาๆแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและหลับได้ง่าย
  • ผู้ดูแลควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอนหลับเช่น ไม่มีเสียงรบกวน มีแสงไฟสลัว อุณหภูมิพอเหมาะ มีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกอยู่ใกล้ๆ และควรมีกริ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลหรือบุคคลอื่นได้ง่าย
  • ผู้ดูแลควรดูแลเรื่องหมอน และที่นอน ควรทําให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงรู้สึกสุขสบายขณะนอนหลับ ลักษณะที่นอนไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป ควรตรวจสภาพของที่นอนและหมอนก่อนนอน เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมหรือรบกวนการนอนหลับได้
  • ผู้ดูแลควรหมั่นชักชวนให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง ได้ทำกายบริหาร เพื่อให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ ได้ขยับเขยื่อน เคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ

ในช่วงท้ายขอฝากไว้ว่า ความสุขอยู่รอบๆตัวเราทุกคนนี่เอง อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่เรายังไม่ได้หยิบยื่นสิ่งดีๆรอบตัวเราแก่คนที่เรารัก  โดยการให้ความรักและใส่ใจกับคนที่เรารัก  เมื่อคนที่เรารักเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงและประสบปัญหาการนอนไม่หลับ สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้สำหรับผู้ดูแลในเรื่องการนอนไม่หลับ คือ การใช้เทคนิคการผ่อนคลายและการสร้างมโนภาพกับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงโดยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงมีการผ่อนคลายนอนในที่นอน และท่าที่สุขสบาย ผู้ดูแลอาจมีการนวดบริเวณแขนและขาแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงมีการพูดคุยร่วมกันและให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงนึกถึงสิ่งที่สวยงาม หรือสถานที่ที่สวยงามเพื่อให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย  รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน  มีการจัดบรรยากาศที่มีความเหมาะสมไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เมื่อเราหยิบยื่นหรือมอบให้กับคนที่เรารักทีเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงความสุขจากการนอนหลับจะบังเกิดขึ้นแก่คนที่เรารักแน่นอน