วิธีดูแลรักษา และทำความสะอาดแผลกดทับ ตามระดับของแผลกดทับ

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการแผลกดทับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยติดเตียงได้รับการใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี ก็จะทำให้แผลกดทับของผู้ป่วยติดเตียงหายเร็ว ลดโอกาสการเกิดแผลใหม่ๆขึ้นมา ช่วยลดความทรมานให้ผู้ป่วยติดเตียงได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ คิดว่าเป็นแค่แผลธรรมดา อาจทำให้กลายเป็นแผลกดทับขั้นรุนแรงมากได้ วิธีรักษาแผลกดทับมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของอาการที่เป็น โดยผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถหายได้ หากได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ ส่วนผู้ป่วยระยะที่ 3 และระยะที่ 4 อาจใช้เวลารักษานานกว่า

สิ่งที่ผู้ดูแลควรตระหนักมากที่สุดในการทำความสะอาดแผลกดทับคือ การล้างมือก่อนและหลังทำความสะอาดแผลกดทับ เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคมาสู่ผู้ป่วยติดเตียง และป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ตัวผู้ดูแลเอง เมื่อผู้ดูแลพบว่าบริเวณปุ่มกระดูกของผู้ป่วยเริ่มแดงๆ ควรทาวาสลีนรอบๆ นวดคลึงเบาๆ พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงอยู่เรื่อยๆ หรืออย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง จะพบว่ารอยแดงจะดีขึ้น กรณีที่ผู้ดูแลขาดการดูแลผู้ป่วย ไม่ตะแคงตัว ไม่เปลี่ยนท่านอน ไม่ดูแลผิวหนังตามปุ่มกระดูกต่างๆ จะพบว่าผิวหนังบริเวณที่แดงๆของผู้ป่วยนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นแผลกดทับระดับรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 1 เป็นระดับ 2 ไประดับ 3 และระดับ 4 ตามมาเป็นลำดับ ทำให้แผลรุนแรงมากขึ้น

ผู้เขียนขอแนะนำการทำความสะอาดแผลกดทับระดับ 2 (เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกดทับไปสู่ระดับ 3) ดังนี้

เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ในการดูแลทำความสะอาดแผลกดทับดังนี้
1. ชุดทำแผล
2. น้ำเกลือทำแผล
3. แอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดแผล
4. พลาสเตอร์ปิดแผล
5. กรรไกรตัดพลาสเตอร์
6. ถุงใส่ขยะที่ใช้แล้ว

และเริ่มทำความสะอาดแผลกดทับตามขั้นตอนการทำความสะอาดแผลกดทับระดับ 2 ดังนี้
1. ผู้ดูแลต้องล้างมือให้สะอาดก่อนการทำแผล
2. แกะชุดทำแผลชุดใหม่ด้วยความระมัดระวัง
3. เทแอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดแผล ใส่ลงในช่องชุดทำแผล
4. ใช้ปากคีบสำลีชุบแอลกอฮอล์พอหมาดๆ เช็ดบริเวณรอบแผลกดทับเป็นมุมกว้างไม่วนเข้าแผล เช็ดทำความสะอาดแผลอย่างเบามือ และทิ้งสำลีที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ
5. เทน้ำเกลือใส่สำลีก้อนใหม่ (ไม่แนะนำให้นำสำลีจุ่มลงในขวดน้ำเกลือ) บิดน้ำเกลือพอหมาดๆ เช็ดตรงบริเวณแผลออกไปรอบๆโดยเช็ดจากด้านในวนออกด้านนอก และทิ้งสำลีที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ เช็ดจนกว่าคราบจะหมดไป
6. ปิดด้วยผ้าก๊อซ ปิดให้เลยขอบแผล และปิดด้วยปลาสเตอร์โดยรอบ ผู้ดูแลควรติดตามพลาสเตอร์ด้วยว่าผู้ป่วยแพ้หรือไม่

เมื่อพบแผลกดทับเป็นแผลลึก มีโพรง เป็นแผลระดับ 3 วิธีทำความสะอาดแผล มีดังนี้

อุปกรณ์เป็นชุดเดียวกับการทำแผลระดับที่ 2 เพิ่มอุปกรณ์ ดังนี้
1.กระบอกฉีดยาขนาด 20 ซีซี จำนวน 1 เครื่อง
2.วัสดุปิดแผลเลือกใช้สิ่งปิดแผลตามปริมาณของสิ่งขับหลั่งจากแผล เช่น Hydrocolloids – Calcium alginate ผ้าก๊อซร่วมกับ Silver sulfa diazine

ขั้นตอนการทำความสะอาดแผลกดทับระดับ 3 ดังนี้
1. ผู้ดูแลต้องล้างมือให้สะอาดก่อนการทำแผล
2. ในกรณีที่แผลลึก มีโพรง ให้ใช้กระบอกฉีดยาฉีดพ่นน้ำเกลือปราศจากเชื้อเข้าในโพรงแผลกดทับ เพื่อทำความสะอาดแผลสัก 2-3 ครั้ง จนกว่าน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดจะมีความใส
3. เลือกวัสดุปิดแผลที่เหมาะกับประเภทของแผล หากแผลมีน้ำเหลืองหลั่งเยอะ อาจเลือกใช้วัสดุปิดแผลที่ดูดซับได้ดี แต่หากแผลมีน้ำเหลืองหลั่งไม่เยอะ อาจใช้วัสดุปิดแผลที่ไม่ติดมากนัก
4. ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทันทีเมื่อมีน้ำเหลืองซึม หรือมีสิ่งสกปรก เช่นอุจจาระ ปัสสาวะซึมเข้าในแผล

ในกรณีพบแผลกดทับเป็นเนื้อตาย แนะนำให้ผู้ดูแลพบพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำแผล เพื่อให้พยาบาลสอนวิธีทำความสะอาดแผลกดทับแก่ผู้ดูแล และผู้ดูแลสามารถกลับไปทำแผลกดทับให้ผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านเองได้ หัวใจสำคัญในการรักษาแผลกดทับ คือ การลดภาวะเสี่ยงจากการกดทับ ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดแรงกดทับที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลง ด้วยการหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง และการใช้ที่นอนที่ช่วยป้องกันแผลกดทับ ดูแลและทำความสะอาดแผลกดทับ บรรเทาอาการเจ็บแผล ป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการรักษาแบบองค์รวมจะช่วยให้สามารถดูแลได้ครบทุกด้าน