การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล การดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เมื่อเค้าต้องเผชิญกับสภาวะการเป็นผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ สภาวะทุพพลภาพ หรือ อายุที่เพิ่มขึ้นก็ตาม หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง คนที่คุณรักอาจจะประสบปัญหากับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิเช่น ภาวะแผลกดทับ ปอดบวม และ ภาวะการขาดน้ำเป็นต้น

หน้าที่ของการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนใหญ่มักตกหนักที่สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยติดเตียงเอง ซึ่งมักจะเป็นบทบาททางสังคมของผู้หญิง คนสูงอายุ หรือคนโสด ที่สมาชิกคนอื่นมักจะมอบหมายภาระนี้ให้ ภาระการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลานั้น เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลามาก และก่อให้เกิดความตึงเครียดสูง

ถึงแม้ว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะมีความเสี่ยงสูง หลายครอบครัวก็ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านและก็มีหลายครอบครัวยังประสบปัญหาในการหาผู้ดูแลโดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ หรือช่วงมีการหยุดหลายวันติดต่อกัน จะพบปัญหาอาทิเช่น ผู้ดูแลหลักประจำขอลากลับบ้าน อุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ป่วยติดเตียง หรืออาหารหลักของผู้ป่วยติดเตียงหาซื้อลำบาก

สิ่งที่ผู้ดูแลควรปฎิบัติใน การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล มีดังนี้

  1. ดูแลผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยติดเตียงให้มีร่างกายอบอุ่น ในช่วงอากาศเย็นจะมีความหนาวอยู่ตลอดเวลา ครอบครัวและคนที่มีหน้าที่รับดูแลผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยติดเตียง ควรหมั่นตรวจเช็คให้ผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยติดเตียง สวมใส่แต่เสื้อผ้าที่แห้งสนิท หากมีอากาศหนาวเย็นก็ให้สวมเสื้อกันหนาว ถุงเท้าและห่มผ้าให้เรียบร้อย การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล
  2. ความสะอาด การรักษาความสะอาดเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเตียงที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในร่ายกาย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจในความสะอาด และหากพบว่าผู้ป่วยมีปัสสาวะสีขุ่น หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาไปส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีในกรณีผู้ป่วยที่สวมใส่แพมเพิร์ส ผู้ดูแลก็ต้องหมั่นตรวจเช็คและเปลี่ยนแพมเพิร์สให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ เพราะหากปล่อยให้ผู้ป่วยนอนจมกองอุจจาระหรือปัสสาวะไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย เรียนรู้เทคนิค และขั้นตอนการดูแลการขับถ่ายให้กับผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มเติม นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลักได้อีกด้วย การรักษาความสะอาดให้ผู้ปวยติดเตียง
  3. ดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยระมัดระวังการลื่นล้ม การหกล้มอาจจะเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยสำหรับเด็กและคนหนุ่มสาว แต่ในกรณีของผู้สูงอายุ การหกล้มอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยได้เลย ยิ่งในช่วงเทศกาลผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือคนในครอบครัวควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการลื่นล้ม แนะนำให้หมั่นเช็ดทำความสะอาดพื้นในบริเวณบ้านพักผู้สูงอายุ รวมถึงทางเดินต่าง ๆ ให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ ป้องกันการหกล้มในผู้ป่วย
  4. ดูแลเรื่องอาการคันอย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยติดเตียงเกา สภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเทศกาลอาจทำให้ผิวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยเกิดอาการคันได้ง่าย ครอบครัวและคนที่มีหน้าที่รับดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย ควรพยายามป้องกันไม่ให้ผู้สูง/ผู้ป่วยอายุเกา ควรหมั่นสังเกต และตรวจผิวหนังของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมอ และคอยดูแลไม่ให้ผิวหนังแห้ง เพราะผิวที่แห้งของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย หากเกาบ่อยๆ จะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ เพราะเหตุนี้คนในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยอาศัยอยู่ในบ้านจึงควรหายาทาสำหรับทาเพื่อยับยั้งการเกิดผื่นคัน รวมถึงหมั่นดูแลผิวหนังของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยอยู่เสมอ

    ดูแลผิวหนังให้ผู้ป่วย
  5. หมั่นดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียงให้ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะการดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยมีความชุ่มชื้น รวมถึงกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมต่อการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย ผู้ป่วยกับการดื่มน้ำ
  6. สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมเองสำคัญต่อการฟื้นตัวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง จึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยต้องหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอและควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ ควรจัดสถานที่ให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นด้วย การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ป่วย

การวางแผนสำรองในการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียงสำหรับอนาคตนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้เขียนขอแนะนำแผนสำรองใน การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล ดังนี้

  1. การผลัดเวรการดูแลผู้ป่วยติดเตียง: การหาผู้ดูแลหลักถือเป็นเรื่องสำคัญที่ญาติของผู้ป่วยติดเตียงต้องวางแผนให้รอบคอบ ญาติของผู้ป่วยติดเตียงควรมาช่วยดูแลผู้ป่วยสลับกับผู้ดูแลหลักบ้าง การที่สมาชิกในครอบครัวได้ดูแลบุคคลในครอบครัวจะเป็นการแสดงความรักและความกตัญญูต่อกันได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้ดูแลหลักไม่อยู่จะได้ดูแลผู้ป่วยได้ ถ้าเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
  2. อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้ป่วยหรืออาหารหลักของผู้ป่วย: ควรจัดให้เพียงพอเพราะช่วงเทศกาลหยุดยาวจะพบปัญหาซื้อลำบาก ในเรื่องอาหารหลักถ้าเป็นในรูปอาหารปั่น ควรรู้จักการดัดแปลงอาหารให้เหมาะสมกับประเภทอาหารที่มีโดยคำนึงถึงโรคประจำตัว และอาการของผู้ป่วยด้วย

ในการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีข้อควรระวังและต้องใส่ใจอยู่มากมาย เพราะตัวผู้ป่วยติดเตียงนั้นแทบจะช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะต้องหมั่นตรวจสอบในทุกๆเรื่อง และในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวควรวางแผนกับผู้ดูแลเพื่อจะดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย และถ้าผู้ดูแลหลักต้องการหยุดในช่วงเทศกาลควรพูดคุยหาแนวทางให้พบความสุขกันทั้งสองฝ่าย ถ้าญาติของผู้ป่วยติดเตียงปราศจากความช่วยเหลือผู้ดูแลหลัก ก็จะพบว่าผู้ดูแลหลักเกิดความเหนื่อยล้าหรือถึงกับหมดไฟในการดูแล อันมีผลกระทบต่อผู้ป่วยตามมาได้

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงเทศกาล