ผู้สูงอายุติดเตียงที่มีปัญหาเรื่องการกินอาหาร การควบคุมการขับถ่ายและการเคลื่อนไหว จะพบเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้แก่ การเกิดแผลกดทับ การขาดสารน้ำและสารอาหาร การสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม จากการขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระของผู้ป่วยติดเตียงที่ก่อให้เกิดความเปียกชื้นต่อผิวหนัง การทำความสะอาดผิวหนังที่ไม่สะอาดพอ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับการระคายเคืองก่อให้เกิดความต้านทานของผิวหนังลดลง เนื้อเยื่อเกิดผื่น ฉีกขาด ติดเชื้อและเป็นแผลกดทับได้ในที่สุด
ผู้เขียนขอนำบทสัมภาษณ์ของผู้ดูแล ซึ่งบุตรสาวของผู้ป่วย เธออายุ 50ปี ดูแลคุณแม่อายุ70ปีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ขณะที่ดูแลคุณแม่นั้นเธอดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่ เธอได้เล่าการดูแลคุณแม่อย่างเป็นธรรมชาติและมีความสุขกับการดูแลบุคคลอันเป็นที่รัก ว่า
“ตั้งแต่แม่นอนติดเตียงมาไม่มีแผลกดทับเลยหมอ มีบ้างก็รอยแดงๆนวดผิวหนังแล้วหาอะไรนุ่มๆมารองก็หายไป ฉันคิดว่าเพราะฉันอาบน้ำแม่ทุกวัน สักตอนบ่ายๆ ให้อาหารแล้วสักพักก็อุ้มแกออกมาอาบน้ำเอาผ้ายางรองอาบน้ำอุ่นๆฟอกสบู่ให้ทั้งตัวเลยแล้วราดน้ำจนเอี่ยม เช็ดตัวให้แห้งเอาโลชั่นทาให้ผิวชุ่ม เปลี่ยนเสื้อผ้าเปลี่ยนผ้าปูทุกวัน แพมเพิสที่ใส่คอยเปิดดูทุกสองชั่วโมงพอแฉะก็เปลี่ยน”
“พอรู้ว่าแม่ฉี่นะ ก็จะเอาผ้าชุบน้ำจนโชก เช็ดจนคิดว่าก้นที่เปียกเปื้อนรอยฉี่หมดน่ะแหละจึงค่อยซับให้แห้ง แม่เป็นผู้หญิงดูแลยากหน่อย ถ้าผู้ชายก็จะสบายกว่านี้ ฉี่นี่สำคัญนะหมอ มันจะกัดให้ผิวแดงเลยถ้าไม่เช็ดให้ดีนะก็จะเกิดกลิ่น เกิดรอยแดงๆแล้วก็เป็นแผลได้”
จากบทสัมภาษณ์ของผู้ดูแล จะเห็นได้ว่า การดูแลเรื่องการอาบน้ำ การทำความสะอาดหลังขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และป้องกันการเกิดแผลกดทับได้อย่างดี
ดังนั้นเราควรใส่ใจการดูแลเรื่องการขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียง ดังนี้
1.พยายามให้ผู้ป่วยติดเตียงถ่ายอุจจาระทุกวัน
2.บางรายอาจพบผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาท้องเสีย จึงควรสังเกตการถ่ายอุจจาระ หากมีการถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง (ควรสังเกตสี จำนวน และลักษณะของอุจจาระ)
3.หากพบผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ให้ยาระบายหรือยาเหน็บ ถ้าจำเป็นอาจพิจารณาสวนอุจจาระ เพราะหากมีปัญหาท้องผูกมากๆ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ท้องอืด ไม่อยากอาหาร หรือคลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาหารค้างอยู่ในลำไส้มาก ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรงได้
4.ดูแลให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก (ผักกาด, ผักคะน้า) ผลไม้ (มะละกอสุก, น้ำส้ม) เป็นต้น ดูแลให้รับน้ำอย่างน้อย 2-2.5 ลิตร (ยกเว้นบางรายที่แพทย์จำกัดปริมาณน้ำ)
ขอแนะนำเทคนิคการดูแลการขับถ่ายผู้ป่วยติดเตียง ดังนี้
อุปกรณ์
1.สำลีทำความสะอาด
2.สบู่ก้อน หรือสบู่เหลว
3.ขวดบรรจุน้ำทำความสะอาด (เป็นขวดที่ใช้แล้วมาดัดแปลงได้)
4.ถุงขยะ
ขั้นตอนการทำความสะอาดหลังการขับถ่ายในผู้ป่วยติดเตียง ดังนี้
1.ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดทวาร
2.กรณีผู้ป่วยติดเตียงถ่ายบนเตียง ควรล้างทวารโดยการใช้หม้อนอน (Bed pan) หรือแผ่นรองซับรองขณะทำความสะอาดถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะบนเตียง
3. ล้างชำระด้วยน้ำและสบู่ (ใส่ถุงมือยาง) ใช้สำลีทำความสะอาดชุบน้ำสบู่
4.เช็ดทำความสะอาดให้ทั่วบริเวณทวาร นำสำลีที่ใช้แล้วทิ้งใส่ถุงขยะ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วซับด้วยผ้าแห้งอีกครั้ง
5.ผู้ดูแลควรล้างมือให้สะอาดหลังทำความสะอาดทวาร
6.ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่หรือใช้แผ่นรองซับเสริมสำหรับปูเตียงในผู้ป่วยติดเตียง ปรับระดับการใส่ผ้าอ้อมให้กระชับ เพื่อความสบายตัว ไม่รั่วซึม
7.เช็ดทำความสะอาดที่นอน หรือนำผ้าปูที่นอนไปซักล้างให้สะอาด หากเป็นไปได้ควรเลือกผ้าคลุมที่นอนที่สามารถกันน้ำเปื้อนซึม เพื่อป้องกันการเกิดความอับชื้น หรือการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียที่ที่นอน
หมายเหตุ ข้อควรระวังในการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ที่สำคัญควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ขับถ่าย ทำความสะอาดผิวหนังพร้อมซับผิวให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดแผลบริเวณผิวหนัง และไม่โรยแป้งเพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรคในบริเวณที่อับชื้นและจุดซ่อนเร้น หากมีผื่นหรือแผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพจิตใจที่ดี
กล่าวโดยสรุปการทำความสะอาดผู้ป่วยติดเตียงหลังจากการขับถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะควรทำทันที ควรทาวาสลีนบริเวณที่อาจสัมผัสปัสสาวะ-อุจจาระด้วย เพื่อป้องกันการระคายเคือง เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดแผลกดทับ ในการดูแลผิวหนัง ต้องลดการเกิดภาวะเปียกชื้นที่ผิวหนังด้วย เพราะความชื้นทำให้ผิวหนังเกิดการเปื่อยยุ่ย ถลอก และไม่ควรให้ผิวแห้งจนเกินไป เพราะผิวที่แห้งกร้านจะเกิดการแตกและความแข็งแรงลดลงทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น