ควรจัดท่านั่ง ท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย

การจัดท่านอนและท่านั่งให้กับผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยป้องกันความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็ง ป้องกันข้อติดแข็ง อาการปวดและบวมของร่างกายข้างที่อ่อนแรง นอกจากนี้ยังช่วยลดการกดทับที่เส้นประสาท และลดการเกิดแผลกดทับซึ่งส่วนมากจะเกิดบริเวณก้นของผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย

การจัดท่านอนนั้นช่วยกระจายและลดแรงกดที่ผิวสัมผัสให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อันจะเป็นการป้องกันแผลกดทับได้ดีที่สุดคือการจัดท่านอนหงายโดยการจัดให้ศีรษะสูงไม่เกิน 60 องศา เพื่อช่วยลดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูกท้ายทอย สะบักและก้นกบ ควบคู่กับการจัดให้ข้อพับเข่างอไม่เกิน 45 องศา ส้นเท้าลอย

ส่วนการจัดท่านอนตะแคงควรจัดให้อยู่ในท่านอนตะแคงกึ่งคว่ำให้มุมสะโพกทำมุมไม่เกิน 30 องศากับแนวราบ จะช่วยลดแรงกดบริเวณก้นกบ ไหล่และสะบัก จะช่วยให้ออกซิเจนมาเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณปุ่มกระดูก (greater trochanter) ได้ดี

วันนี้ผู้เขียนมีคำแนะนำในการจัดท่านั่งและท่านอน สำหรับผู้ป่วยติดเตียงเมื่อเริ่มมีอาการอ่อนแรงมาฝาก เพื่อให้ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกท่านได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนกัน

การจัดท่าผู้ป่วยบนเตียง (ควรจัดเปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง)

1.ท่านอนหงาย: จัดให้ผู้ป่วยติดเตียงหน้าตรง วางแขนข้างอ่อนแรงบนหมอน โดยจัดท่าให้มืออยู่สูงกว่าศอก และศอกอยู่สูงกว่าไหล่ หากมีอาการกำมือเกร็งควรมีของให้กำในมือ เช่น ผ้าขนหนูม้วนเล็กหรือลูกบอลนิ่มขนาดเท่าอุ้มมือจับมาใส่ไว้ในมือเพื่อป้องกันการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในท่ากำ ส่วนขาข้างอ่อนแรงควรมีหมอนหนุนใต้สะโพกเพื่อป้องกันขาแบะออกด้านข้าง ปรับเตียงให้สูงขึ้นไม่เกิน 60 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณก้นกบดึงรั้งกันจนเกิดแผลกดทับ

 

2.ท่านอนตะแคงทับข้างแข็งแรง: ให้ผู้ป่วยติดเตียงนอนตะแคงทั้งตัว จัดไหล่ข้างอ่อนแรงงุ้มไปด้านหน้า ใช้หมอนรองแขนข้างอ่อนแรง นำหมอนรองขาข้างอ่อนแรงและจัดสะโพกงอเข่า นำเท้าไว้บนหมอนป้องกันข้อเท้าบิด

3.ท่านอนตะแคงทับข้างอ่อนแรง: ให้ผู้ป่วยติดเตียงนอนตะแคงทั้งตัว แขนและสะบักข้างอ่อนแรงเหยียดมาด้านหน้าและอยู่ในท่าหงายมือ ขาข้างอ่อนแรงเหยียดข้อสะโพกตรง ขาข้างแข็งแรงให้วางบนหมอนงอสะโพกและเข่า โน้มมาด้านหน้า

4.การจัดท่านั่งบนรถเข็นนั้น กรณีที่จัดให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่บนรถเข็น ลำตัวของผู้ป่วยติดเตียงต้องตรงสะโพกชิดพนัก โดยอาจใช้หมอนช่วยดันให้ตัวตรง และนำหมอนมารองมือข้างที่อ่อนแรงเพื่อป้องกันข้อไหล่หลุด ควรปรับเปลี่ยนท่าทางขณะนั่งบนรถเข็นทุก ๆ 15 นาที เพื่อถ่ายน้ำหนักตัวไม่ให้กดทับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเวลานาน  ควรเลือกรถเข็นที่ปรับระดับได้ เพื่อช่วยผ่อนแรงกดทับควรเลือกเบาะรองนั่งหรือเตียงนอนที่ช่วยผ่อนแรงกดและปรับท่าทางให้นั่งหรือนอนได้สบาย

 

5.จัดท่านั่งขอบเตียง กรณีที่จัดให้ผู้ป่วยติดเตียงนั่ง ผู้ดูแลควรจัดศีรษะและคอของผู้ป่วยติดเตียงให้ตั้งตรง ไหล่ทั้งสองข้างอยู่ในระดับเดียวกัน  ลำตัวตรง เท้าวางราบกับพื้น ทิ้งน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้าง  มือวางบนเตียง

 

สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย การปรับเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ดี ผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลกดทับตามจุดที่มีการลงน้ำหนักต่าง ๆ ในระยะยาวการพลิกตัวผู้ป่วยก็อาจทำให้ผู้ดูแลมีอาการปวดหลัง หรือปวดเอวขึ้นได้ เนื่องจากต้องออกแรงในการดันตัวเพื่อพลิกตัวผู้ป่วยอยู่ทุกวัน ผู้ดูแลอาจเลือกหาวิธีพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงเพื่อช่วยลดการออกแรงดันตัวผู้ป่วยติดเตียง และเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายในการพลิกตัว  เนื่องจากการพลิกตัวควรทำเรื่อยๆระหว่างวัน ผู้ดูแลอาจต้องมีติดนาฬิกาพลิกตะแคงตัวไว้ที่หัวเตียงผู้ป่วยติดเตียง เพื่อเป็นการเตือนให้พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงตามเวลานาฬิกาพลิกตะแคงตัว การเลือกที่นอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลดความกังวลเรื่องแผลกดทับ และจำนวนการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

ในช่วงท้ายผู้เขียนขอฝากเรื่องความสะอาดผิวหนัง ควรหมั่นตรวจผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ควรล้างทำความสะอาดผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงและเช็ดให้แห้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังอับชื้น ควรทาโลชั่นให้ผู้ป่วยติดเตียงสำหรับผิวแห้ง ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนแก่ผู้ป่วยติดเตียงย่างสม่ำเสมอ ตรวจดูกระดุมเสื้อหรือตะเข็บของผ้าปูที่นอนให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เสียดสีผิวหนัง จากการปฎิบัติและเอาใจใส่ของผู้ดูแลเป็นการส่งมอบความสุขไปยังผู้ป่วยติดเตียง  ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเตียงมีความสุขตามมาคะ