กายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมา

สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว การที่ต้องใช้ชีวิตบนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงทั้งวันทั้งคืนคงเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้ป่วยไม่มากก็น้อย เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการและต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานหรือบางคนอาจจะทั้งชีวิตที่เหลืออยู่     สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนอนติดเตียงมีสภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีคือการทำให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมีความสุขและสามารถดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งที่เป็นได้ โดยการทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง

 

การบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องทำ

หากผู้ป่วยติดเตียง ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ย่อมเกิดผลเสียตามมา แม้แต่คนทั่วไปเอง เมื่อไม่ได้ออกกำลังกายหรือไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อย ๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะเริ่มตามมา ทั้งการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญหรือขับถ่ายไม่ดี ภาวะเหล่านี้ ก็จะยิ่งนำพาโรคแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ มาอีก ฉะนั้นในผู้ป่วยติดเตียง ย่อมมีความรุนแรงและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่า เพราะไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย  ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่

  1. ภาวะข้อติด เป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากร่างกายอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ

ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ จะทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ยึดติดไม่สามารถเหยียดข้อออกได้ หากฝืนเหยียดออก จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บทรมาน ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะแก้ไขได้ยาก

  1. กล้ามเนื้อฝ่อลีบ จากการที่ผู้ป่วยติดเตียงไม่ได้เคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจึงไม่มีการถูกกระตุ้นหรือพัฒนา จึงค่อย ๆ ลีบตัวลงจนเล็กกว่าปกติ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขน ขา และมือ
  2. ภาวะปอดแฟบ เกิดจากการที่ถุงลมในปอด ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถหมุนเวียนก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าสู่ถุงลมได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเตียงหายใจได้ไม่เต็มที่ เจ็บหน้าอก ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงมาก
  3. แผลกดทับ ภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง  การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการแผลกดทับ เป็นเรื่องสำคัญ เกิดจากการถูกกดทับเป็นเวลานานๆ จนทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลาย กลายเป็นแผลขึ้นมา มักเกิดบริเวณปุ่มกระดูก หรือบริเวณที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์กดทับ  ไม่สามารถขยับตัวพลิกไปมา ทำให้เลือดไม่สามารถผ่านไปยังพื้นที่ที่น้ำหนักตัวกดทับได้ 

ผู้เขียนขอแนะนำกายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

  1. ท่ายืดเหยียดนิ้วและฝ่ามือ  ท่ายืดเหยียดนิ้ว และฝ่ามือจัดเป็นท่ากายบริหารสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ทำได้ง่ายที่สุดท่าหนึ่ง ทำตามขั้นตอนดังนี้
    1. ยื่นมือไปข้างหน้า หันฝ่ามือออกนอกลำตัว
    2. กางนิ้วทั้ง 5 นิ้วให้ได้มากที่สุดแล้วค้างไว้ 2-3 วินาที
    3. ให้ปลายนิ้วแต่ละนิ้วแตะกับปลายนิ้วโป้ง ไล่ไปตั้งแต่นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย
    4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง
  2. ท่าหมุนข้อมือ การฝึกท่าหมุนข้อมือ บ่อย ๆ จะช่วยให้ ผู้ป่วยติดเตียง มีข้อมือที่แข็งแรงละสามารถเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ โดยผู้ดูแลสามารถออกกำลังกายในท่าหมุนข้อมือได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
    1. นอนแขน แนบลำตัว ให้ฝ่ามือแตะอยู่บนเตียง
    2. หมุนข้อมือข้างหนึ่งทวนเข็มนาฬิกาช้า ๆ
    3. ทำซ้ำประมาณ 10-15 วินาที
    4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง
  3. ท่ายกแขน ท่ายกแขนเป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่มีประสิทธิภาพ มาก ผู้ป่วยสามารถฝึกท่ายกแขนด้วยตัวเอง หรือจะให้ผู้ดูแลช่วยก็ได้ โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
    1. ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
    2. ค้างไว้ 10 วินาที
    3. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    4. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง
  4. ท่ายกขา หากผู้ป่วยติดเตียงมีแรงยกขาพอ ผู้ดูแลควรฝึกกายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียงด้วยท่ายกขา โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ด้วย
    1. ค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งขึ้น พยายามยกให้ได้ถึงระดับสะโพก
    2. ค้างไว้ 10-20 วินาที
    3. เอาขาลงช้า ๆ
    4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง
  5. ท่ากระดกและกดข้อเท้า ท่านี้เป็นท่ากายบริหารสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณข้อเท้าและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้อย่างเป็นปกติที่สุด แต่การทำท่ากระดกและกดข้อเท้านี้ จะต้องให้ผู้ดูแลช่วยด้วย ดังขั้นตอนต่อไปนี้
    1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ดูแลค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งของผู้ป่วยขึ้น โดยจับบริเวณน่องและปลายเท้าไว้ให้มั่น
    2. กดปลายเท้าลง ค้างไว้ 2-3 วินาที
    3. กระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 2-3 วินาที
    4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง
  6. ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง  ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ ต้นขาด้านหลัง หรือท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring Muscles) นี้เหมาะกับ ผู้ป่วยติดเตียง อย่างยิ่ง กล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring Muscles) คือ กลุ่มกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นที่อยู่บริเวณด้านหลังของขาส่วนบน อีกทั้งยังรวมถึงเอ็นรอยหวายที่เป็นเส้นเอ็นที่ใหญ่ที่สุดในการเชื่อมต่อกล้ามเนื้อ ข้อเข่า ลงไปยังถึงข้อเท้า สำหรับท่าบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังท่านี้ ต้องมีผู้ดูแลช่วยด้วย โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
    1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ดูแลค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งของผู้ป่วยขึ้น
    2. งอเข่าช้า ๆ ให้ชิดหน้าอก ผู้ป่วยที่สุด
    3. ค้างไว้ 2-3 วินาที
    4. ค่อย ๆ กลับท่าเริ่มต้น
    5. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
    6. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

หาก ผู้ดูแล บริหารร่างกายด้วยท่าเหล่านี้แก่ผู้ป่วยติดเตียง เป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น ผู้ป่วยติดเตียงสามารถเคลื่อนไหว ร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บปวด เพราะการกดทับได้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก่อนผู้ป่วยติดเตียงจะบริหารร่างกายใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ดูแลก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย

ผู้เขียนขอสรุปแม้ว่าผู้ป่วยติดเตียง จะไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้ แต่ผู้ดูแลสามารถช่วยทำ การกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย  และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจากการไม่เคลื่อนไหวร่างกายได้ ดังนั้น การบริหารแก่ผู้ป่วยติดเตียง จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย  ผู้ดูแลทุกท่านสามารถนำท่าบริหารร่างกายที่แนะนำข้างต้น  ไปทำกายบริหารแก่ผู้ป่วยติดเตียง